“GPSC” ก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP ทดแทน 98 เมกะวัตต์ หนุนอุตฯเป้าหมายพื้นที่อีอีซี
“GPSC” ก่อสร้างโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ SPP กำลังผลิต 98 เมกะวัตต์ มูลค่า 4,000 ล้าน ทดแทนโรงไฟฟ้าที่ปลดระวางบนพื้นที่เดิม ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด คาดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567 รับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ใน EEC
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในการเป็นประธานพิธีบวงสรวงวางศิลาฤกษ์เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ในโครงการ GLOW SPP 2 Replacement หรือ GSPP2R วันนี้ (25 สิงหาคม 2565) ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นการก่อสร้างเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมของบริษัท โกลว์ เอสพีพี 2 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GPSC ที่ครบอายุสัญญาผลิต โดยโรงไฟฟ้าใหม่เป็นโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ (Gas Turbine) ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงพร้อมเครื่องกำเนิดไอน้ำ (HRSG) จำนวน 2 หน่วยการผลิต รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 98 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 230 ตันต่อชั่วโมง มูลค่าการลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
“โครงการดังกล่าว คาดว่าใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 2 ปี โดยจะก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 /2567 ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการต่ออายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือ PPA กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และจะมีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในปี 2567 เพื่อที่จะสร้างเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าของประเทศไทย” นายวรวัฒน์กล่าว
ทั้งนี้ GPSC ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า และไอน้ำ เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC รวมถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว และมั่นใจว่าการดำเนินการก่อสร้างจะบรรลุและสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้ ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสถียรภาพของระบบพลังงาน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโรงไฟฟ้า SPP ภายใต้เงื่อนไขสัญญา SPP Replacement ทำให้ GPSC มีความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนค่าไฟฟ้า เพราะเป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่ทำการปลดระวางหลังจากหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปีบนพื้นที่เดิม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาทดแทน ส่งผลให้ GPSC ยังคงรักษาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ SPP ซึ่งจะมีทั้งหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยราคาที่แข่งขันได้ และสามารถสร้างความมั่นคงให้กับระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ