"หุ้นโรงไฟฟ้า" ปัจจัยบวกเพียบ "ขึ้นค่าไฟ-ต้นทุนลด-รายได้มั่นคง"
ประเทศไทยเข้าสู่ยุค “ข้าวยากหมากแพง” สินค้าต่างๆ พร้อมใจพาเหรดปรับขึ้นราคาถ้วนหน้า ไล่มาตั้งแต่อาหารสด ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ เครื่องปรุงรส ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ปุ๋ย ฯลฯ เนื่องจากต้นทุนในการผลิตและค่าขนส่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางราคาน้ำมัน
ขณะที่ล่าสุดคนไทยต้องเตรียมพร้อมเงินในกระเป๋าให้ดี หลังมีข่าวสะพัดว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เล็งปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) งวด 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ก.ย.- ธ.ค. 2565 อีก 90-100 สตางค์ต่อหน่วย หลังต้นทุนก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าพุ่งไม่หยุด
ท้ายที่สุดหากมีการขึ้นค่า Ft ตามข่าวที่ออกมาจริง จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าพุ่งขึ้นทันทีแตะหน่วยละ 5 บาท ทำสถิติแพงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเบื้องต้นคาดว่า กกพ. จะมีการประกาศค่า Ft ใหม่ภายในเดือนนี้หรือไม่เกินต้นเดือนหน้า
อย่างไรก็ตาม ทันทีที่มีข่าวปรับขึ้นค่าไฟ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยส่วนใหญ่มองว่าเป็นการซ้ำเติมประชาชน เนื่องจากทุกวันนี้ข้าวของต่างๆ แพงอยู่แล้ว รายได้แทบไม่พอกับรายจ่าย แล้วยังต้องมาจ่ายค่าไฟแพงอีก
ทำให้ กกพ. ตัดสินใจประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนระหว่างวันที่ 12 – 25 ก.ค. นี้ เพื่อหาแนวทางพิจารณาปรับขึ้นค่า Ft โดยมีทั้งหมด 3 แนวทาง ก่อนนำข้อสรุปเสนอให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้ง
ถือเป็นครั้งแรกที่ กกพ. เปิดรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างผลกระทบต่อประชาชนกับความมั่นคงด้านไฟฟ้าในระยะยาว
เพราะปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้ามาช่วยแบกรับภาะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในส่วนนี้ไปแล้วมากกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งหากต้องแบกรับไปเรื่อยๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและการผลิตไฟฟ้าในอนาคตอย่างแน่นอน ทำให้ กกพ. ต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ
สำหรับในฝั่งตลาดทุนปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมีกระแสการปรับขึ้นค่า Ft และค่าไฟฟ้า กลายเป็นปัจจัยบวกต่อ “หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า” ในทันทีจากราคาขายไฟที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันหุ้นโรงไฟฟ้ายังมีปัจจัยบวกอื่นๆ สนับสนุน ทั้งต้นทุนที่ลดลงหลังราคาก๊าซธรรมชาติเริ่มชะลอตัวตามราคาน้ำมันดิบ
ขณะเดียวกันเมื่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย หนุนให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้น ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ กลับมาเดินเครื่องเต็มที่ การเดินทาง การท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง หนุนให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ หลายบริษัทเตรียมเดินเครื่องโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มเข้ามา
ที่สำคัญในช่วงที่บรรยากาศการลงทุนยังเต็มไปด้วยความผันผวน จากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงปรี๊ด ดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย “หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า” ดูเป็นหลุมหลบภัยที่ดีในสถานการณ์เช่นนี้ เนื่องจากรายได้มั่นคงเพราะมีการทำสัญญาซื้อขายไฟไว้ล่วงหน้า จึงมีรายได้เข้ามาสม่ำเสมอ แทบไม่อิงกับภาวะเศรษฐกิจ
ด้านบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า การปรับขึ้นค่า Ft ถือเป็น sentiment เชิงบวกโดยรวมต่อกลุ่มโรงไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ BGRIM และ GPSC ซึ่งมีสัดส่วนขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมค่อนข้างสูงราว 23% และ 26% ของรายได้ขายไฟฟ้าโดยรวม ตามลำดับ
ในขณะที่ GULF ซึ่งมีสัดส่วนขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้ากลุ่มดังกล่าวราว 14% ของรายได้รวม แม้ในแง่ของกำไรอาจไม่ได้รับผลบวกจากข่าวการขึ้นค่า Ft มากนัก แต่คาดจะได้ sentiment เชิงบวกจากกระแสดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่า Ft จะเป็นส่วนช่วยชดเชยให้อัตรากำไรขั้นต้นของ BGRIM และ GPSC ทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2565 โดยค่า Ft ที่ปรับขึ้นทุกๆ 1 สตางค์ จะส่งผลให้ BGRIM มีกำไรเพิ่มขึ้นราว 21 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ราคาก๊าซฯ ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 บาทต่อล้านบีทียู จะส่งผลให้กำไรของบริษัทลดลงราว 17 ล้านบาทต่อปี
ส่วน GPSC ค่า Ft ที่ปรับขึ้นทุกๆ 1 สตางค์ จะส่งผลให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นราว 60 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ราคาก๊าซฯ ที่ปรับขึ้นทุกๆ 1 บาทต่อล้านบีทียู จะส่งผลให้กำไรของบริษัทลดลงราว 30 ล้านบาทต่อปี จึงแนะนำหาจังหวะทยอยสะสมลงทุนในระยะยาว โดยช่วงสั้นคาดได้กระแสเก็งกำไรจากประเด็นนี้