กรมชลประทาน เร่งแผน“อ่างวังโตนด” เพิ่มศักยภาพบริหารน้ำ “อีอีซี”

กรมชลประทาน เร่งแผน“อ่างวังโตนด”   เพิ่มศักยภาพบริหารน้ำ “อีอีซี”

กิจกรรมต่างๆ ตามแผนพัฒนาการเกษตรใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ทั้งภาคการเกษตร รวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของประชากร ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงจำเป็นต้องวางแผนระยะยาวถึงปี 2580 เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ข้างหน้าที่จะขาดแคลนน้ำไม่ได้

ทั้งนี้จากข้อมูลของ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในปี 2560 พบว่าความต้องการใช้น้ำในพื้นที่อีอีซี แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม การเกษตร และการรักษาระบบนิเวศท้ายน้ำ โดยภาคการเกษตรมีความต้องการใช้น้ำมากที่สุด 1,562 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี หรือประมาณ 64.6% ของความต้องการใช้น้ำรวม ดังนี้

กรมชลประทาน เร่งแผน“อ่างวังโตนด”   เพิ่มศักยภาพบริหารน้ำ “อีอีซี”

จังหวัดฉะเชิงเทรา มีความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรมากที่สุด 1,305 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี หรือประมาณ 89.6% ของความต้องการใช้น้ำรวมของจังหวัด เนื่องจากมีพื้นที่เกษตรและชลประทานมากที่สุด และรองลงมา คือ จังหวัดระยอง 139 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี หรือประมาณ 28.2% ของความต้องการใช้น้ำรวมของจังหวัด และ จังหวัดชลบุรี 118 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี หรือ 25.1% ของความต้องการใช้น้ำรวมของจังหวัด

รวมทั้งในปี 2580 ความต้องการใช้น้ำภาคเกษตรในพื้นที่อีอีซี จะเพิ่มขึ้น 17.3 จากปี 2560 โดยจังหวัดที่มีความต้องการใช้น้ำภาคเกษตรเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ จังหวัดระยอง เพิ่มขึ้น 82% เนื่องจากการขยายพื้นที่ชลประทานของโครงการอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง และแนวโน้มที่เกษตรกรจะเปลี่ยนจากการปลูกยางพารามาเป็นการปลูกไม้ผล เช่น ทุเรียน ส่งผลให้เกษตรกรต้องการน้ำปริมาณมาก เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี

รองลงมา คือ จังหวัดชลบุรี เพิ่มขึ้น 53.3% เนื่องจากมีแนวโน้มในการขยายพื้นที่ การปลูกพืชพลังงานเพิ่มขึ้น และจังหวัดฉะเชิงเทรา เพิ่มขึ้น 7.1% เนื่องจากเป็นพื้นที่ผลิตข้าวมากที่สุดในอีอีซี ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำในการเพาะปลูกมาก

นอกจากนี้ สทนช.ได้บรรจุแผนงาน/โครงการที่เกี่ยวข้องกับการรองรับความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นในแผนหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับอีอีซี ปี 2563-2580 เช่น การใช้มาตรการ 3Rs ในทุกภาคส่วน การส่งเสริมการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบริหารจัดการ

ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปริมาณน้ำท่าของพื้นที่อีอีซี มาจากลุ่มน้ำหลัก 2 แห่ง คือ ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ค่ารายปีเฉลี่ย 16,324 ล้าน ลบ.ม. จากสถิติปริมาณการเก็บกักน้ำของอ่างขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี จำนวน 4 แห่ง คือ อ่างฯ คลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา อ่างฯ บางพระ จ. ชลบุรี อ่างฯหนองปลาไหลและประแสร์ จ.ระยอง

 

กรมชลประทาน เร่งแผน“อ่างวังโตนด”   เพิ่มศักยภาพบริหารน้ำ “อีอีซี”

รวมทั้งตั้งแต่ปี 2559-2562 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.9% ต่อปี โดยปี 2562 ปริมาณน้าที่เก็บกักได้ 853 ล้าน ลบ.ม. หรือ 81.3% ของความจุอ่าง หรือ 5.2% ของปริมาณน้ำท่า และเพิ่มขึ้น 0.2% จากปี 2561

ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นตามราคาที่สูงขึ้นการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเพิ่มขึ้นของชุมชนอย่างต่อเนื่อง

“แผนพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่อีอีซี ในส่วนของกรมชลประทาน กำหนดไว้ให้เชื่อมโยงเป็นโครงข่าย ทั้งการวางท่อ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ โดยใช้อ่างฯประแสร์ เป็นศูนย์กระจาย หรือ HOB แต่ทั้งนี้ยังมีความจำเป็นที่ต้องสร้างอ่างฯขนาดกลางในลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี เพิ่มขึ้นอีก เพื่อจะเก็บน้ำได้อีกว่า 1,000 ล้าน ลบ.ม. แล้วสูบเข้ามาโยงกับอ่างประแสร์ที่ จะเป็นโยชน์กับอีอีซี และยังสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำ ปัญหาน้ำเค็มรุกตัวในช่วงฤดูแล้งด้วย”

รวมทั้งการสร้างอ่างฯในลุ่มน้ำวังโตนด ดังกล่าว มีทั้งสิ้น 4 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว อ่างฯคลองพะวาใหญ่ อ่างฯคลองหางแมวอยู่ระหว่างดำเนินการ และอ่างฯวังโตนด ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการปรับรูปแบบการพัฒนาโครงการ ซึ่งเสนอข้อมูลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาไปแล้วเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 เนื่องจากต้องใช้พื้นที่ป่า 14,600 ไร่ โดยเป็นพื้นที่อุทยานฯเขาสิบห้าชั้น 7,503 ไร่ และพื้นที่ป่าสงวน 7,097 ไร่

สำหรับรูปแบบการพัฒนาโครงการอ่างฯวังโตนดมีขนาดความจุ 99.50 ล้านลบ.ม.มี 5 ทางเลือก เพื่อเปรียบเทียบทางเลือกที่ตั้งอ่างฯที่เหมาะสม ประกอบด้วย ที่บ้านวังสัมพันธ์, บ้านวังสัมพันธ์ ตอนบน, บ้านโป่งเกตุ, บ้านวังสัมพันธ์ ตอนล่าง, บ้านยายไทยกรณีสร้างอ่างฯขนาด 99.50 ล้าน ลบ.ม. และที่บ้ายยายไทย กรณีลดขนาดอ่างเหลือ 34 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ จากการเปรียบเทียบทางด้าน วิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ แล้วพบว่าการก่อสร้างที่จุดบ้านวังสัมพันธ์ มีคะแนนรวมสูงถึง 80.42 คะแนน จึงเหมาะสมมากที่สุดและได้นำมาดำเนินการศึกษาผลกระทบของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)

“หากกระทรวงทรัพยากรเห็นชอบในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง กรมชลประทานก็จะเข้าก่อสร้างได้ทันทีในปี 2567 งบประมาณเบื้องต้น 1,000 ล้านบาท และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ชลประทานได้อีก 87,700 ไร่ เป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อการอุปโภค-บริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่โครงการกว่า 4 ตำบล“

นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งน้ำสำรองให้การประปาส่วนภูมิภาคสาขาจันทบุรีจนถึงปี 2588 เป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อการอุปโภคและบริโภค อุตสาหกรรม และสนับสนุนน้ำส่วนเกินเสริมสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกได้สูงสุด 70 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี สามารถชะลอน้ำหลาก และบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองโตนด 7,575 ไร่ เพื่อรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง