สศช.ชี้ 'คริปโต' บูมหนักกลุ่มคนรุ่นใหม่ มูลค่าซื้อขายพุ่ง 1.4 แสนล้าน
สศช.ตลาด “คริปโตเคอร์เรนซี” บูมหนักในกลุ่มคนรุ่นใหม่ มูลค่าซื้อขายกว่า 1.4 แสนล้านบาทต่อเดือน ชี้ความเสี่ยงยังสูงไม่มีการกำกับดูแล ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน ถูกชี้นำได้ง่าย และกลโกงหลายรูปแบบ แนะศึกษารอบด้านก่อนลงทุน
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2565 โดยระบุถึงการฟื้นตัวจาก COVID-19 อย่างชัดเจน สะท้อนจากการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.0 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 3.1 รวมทั้งยังมีสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ 3 เรื่อง ได้แก่
1. รู้จักรู้ทันผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
2. พฤติกรรมการลงทุนของคนรุ่นใหม่ในตลาด Cryptocurrency
3. การทำงานของผู้สูงอายุตอนต้น
โดยประเด็นของพฤติกรรมการลงทุนของคนรุ่นใหม่ในตลาด Cryptocurrency สศช.รายงานว่า ปัจจุบันคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัล เป็นสินทรัพย์ที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ เข้ามาลงทุน และหาผลตอบแทนจากมูลค่าที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในระยะเวลาอันสั้น โดยจำนวนผู้ครอบครองคริปโตฯ เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2564
สำหรับประเทศไทยจากข้อมูลของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล พบว่า จำนวนบัญชีซื้อขายคริปโตฯ ปี 2564 เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน และจากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า ปี 2564 มีมูลค่าการซื้อขายคริปโตฯ ในไทยเฉลี่ยประมาณ 1.4 แสนล้านบาทต่อเดือน
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการลงทุนในตลาดคริปโตฯ ของคนไทย มีประเด็นที่น่ากังวล ดังนี้
1. ผู้ลงทุนในคริปโตฯ ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างผลกำไรที่สูงในเวลาที่รวดเร็ว
2. 1 ใน 5 ของผู้ลงทุน ในคริปโตฯ ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคริปโตฯ น้อย และร้อยละ 25 ใช้สัญชาตญาณ ในการตัดสินใจลงทุน
3. มากกว่า 1 ใน 4 ของคนรุ่นใหม่ที่ลงทุนในคริปโตฯ ลงทุนเพื่อความสนุก บันเทิง และเข้าสังคม
4. นักลงทุน คริปโตฯ มากกว่าครึ่งหนึ่งใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่งไม่สามารถกำกับดูแลได้ จากพฤติกรรมข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงในการลงทุนของนักลงทุนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ทั้งนี้การลงทุนเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน แต่ผู้ลงทุนต้องศึกษาหาความรู้ให้รอบด้านก่อนการตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะสินทรัพย์ประเภทนี้ซึ่งมีความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์มากกว่าประเภทอื่นมาก
โดยความเสี่ยงที่สำคัญ คือ
1. ไม่มีการกำกับดูแลตามกฎหมาย สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการกำกับดูแลเรื่องการออกเสนอขาย คริปโตฯ และคุ้มครองผู้ลงทุนในคริปโตฯ ที่ทำการซื้อ/ขาย ผ่านแพลตฟอร์มที่ไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียน ในประเทศไทยได้
2. ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (ยกเว้น Stablecoin บางชนิด) ทำให้เมื่อเกิดการด้อยค่า ผู้ที่เป็นเจ้าของจะไม่มีหลักประกันใดๆ เลย อาทิ กรณีเหรียญ Terra Classic ที่เคยมีมูลค่าสูงถึง 3,903 บาท/เหรียญ ในเดือนเมษายน 2565 และตกลงมาเหลือเพียง 0.003 บาท/เหรียญ ในเดือนถัดมา
3. ตลาดคริปโตฯ ถูกชี้นำได้ง่าย โดยการเปลี่ยนแปลงของราคา คริปโตฯ เกิดขึ้นจากความต้องการที่ถูกชี้นำจากข่าวสาร แทนการเปลี่ยนแปลงของ ปัจจัยพื้นฐาน (งบการเงิน และผลประกอบการ) และคริปโตฯ ยังสามารถปั่นราคาสินทรัพย์ (Pump and Dump) ได้ง่าย และควบคุมได้ยาก
4. ตลาดคริปโตฯ มีการหลอกลวง และการโกงหลายรูปแบบ อาทิ การหลอกให้ผู้ใช้ กรอกรหัสผ่านลงในเว็บไซต์ปลอมและขโมยบัญชีผู้ใช้ไปใช้งาน หรือเพื่อขโมยเหรียญคริปโตฯ การชักชวนลงทุนจูงใจ ว่าสามารถทำกำไรได้แบบเกินจริง ขณะที่การ rug pull ที่เป็นการโกงรูปแบบหนึ่งเกิดจากการที่นักต้มตุ๋นทำทีว่า มีการพัฒนาโครงการเหรียญคริปโตฯ ใหม่ๆ เข้ามาในตลาดเพื่อต้องการหลอกล่อให้นักลงทุนเข้ามาซื้อขาย 6 ก่อนที่จะเทขายทิ้ง หรือฉ้อโกงเงินในระบบและส่งผลให้เหรียญนั้นไร้มูลค่า
ดังนั้น ผู้ต้องการลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจตลอดจนประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้าน หากต้องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ ขณะเดียวกัน ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่มีและเลือกลงทุนอย่างไม่ประมาท เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียเช่นในต่างประเทศ ที่มีการฆ่าตัวตายจากการสูญเงินลงทุนในคริปโตฯ แล้วกว่า 22 ราย