จับตา 30 ส.ค. นี้ "พลังงาน" ของบฯ 8 พันล้าน อุ้มค่าไฟ 2 กลุ่มเปราะบาง
"สุพัฒนพงษ์" จ่อ ครม. ของบกลางฯ 8,000 ล้าน หวังอุ้มค่าไฟฟ้าทั่วประเทศ 2 กลุ่ม รอบเดือนก.ย.-ธ.ค. 2565 หวังช่วยลดผลกระทบค่าครองชีพกลุ่มเปราะบาง
รัฐบาลได้มีความกังวลต่อผลกระทบจากวิกฤติพลังงาน ที่เป็นต้นเหตุส่งผลกระทบถึงค่าครองชีพของประชาชนที่จะเพิ่มขึ้นตามมาด้วย ล่าสุดกระทรวงพลังงาน ได้หามาตรการดูแลกลุ่มเปราะบาง หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 ส่งผลให้ค่า Ft ขึ้นมาเป็นหน่วยละ 93.43 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้นหน่วยละ 68.66 สตางค์ และเมื่อรวมกับค่าไฟฐาน 3.76 บาท ทำให้ค่าไฟฟ้าทำสถิติสูงที่สุดหน่วยละ 4.72 บาท
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภายหลังการประชุม กบง.ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า ดังนี้ 1. กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย ตั้งแต่เดือนก.ย.– ธ.ค. 2565 (ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นค่า Ft เดือนพ.ค.-ส.ค. จำนวน 23.38 สตางค์ต่อหน่วย และส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนก.ย.–ธ.ค.จำนวน 68.66 สตางค์ต่อหน่วย) 2. กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน โดยการให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนก.ย.–ธ.ค.2565 แบบขั้นบันได ในอัตรา 15 -75%
“เดือนก.ย.-ธ.ค. 2565 กลุ่มแรกที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะจ่ายค่า Ft เท่ากับงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2565 หรือจ่ายค่าไฟฟ้าราว ๆ 3.78 บาทต่อหน่วย ถือว่าไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไร ส่วนกลุ่มที่ใช้ไฟเกิน 301-500 หน่วยขึ้นไปจะต้องจ่ายค่า Ft เป็นขั้นบันได้ หากใช้ไฟฟ้ามากก็จ่ายมากตามสัดส่วน หรือถ้าเกิน 500 หน่วยต่อเดือน ก็จะต้องจ่ายในอัตราหน่วยละ 4.72 บาท ตามการปรับขึ้นของกกพ. เป็นต้น”
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการตามแนวทางช่วยเหลือทั้ง 2 กลุ่ม เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 80% ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 89% ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย
นอกจากนี้ จะดำเนินการให้ครอบคลุมบ้านที่อยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของ กฟผ. และผู้ใช้ไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ คาดว่าจะใช้งบประมาณรวม 4 เดือนที่ 8,000 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือเพื่อของบประมาณกลาง เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ส.ค. 2565
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงความคืบหน้าเงินกู้ 85,000 ล้านบาทของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้น เกิดจากการที่ กฟผ. ต้องแบกรับภาระค่า Ft แล้วกว่า 100,000 ล้านบาท แต่ในทางบัญชีของกฟผ.ไม่ขาดทุน ถือเป็นรายได้ค้างชำระที่ยังไม่ส่งมา ส่งผลให้ระหว่างนี้จะต้องขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการกู้เงินวงเงินโดยรวม 85,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องและลงทุนระหว่างที่ยังไม่มีการชำระเงินมาให้ กฟผ.
ทั้งนี้ ค่า Ft ที่ขยับเพิ่งขึ้นกระทรวงพลังงาน ได้เห็นสัญญาณชัดเจนตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จากปัจจัยก๊าซฯ ในอ่าวไทยหดหาย และต้องนำเข้าด้วย LNG ที่ตลาดโลกมีปัญหา เมื่อเกิดปัญหาโควิด ส่งผลให้ LNG ราคาต่ำและไม่มีการลงทุน พอพ้นโควิดก็มีการแย่งซื้อทำให้ราคาสูงขึ้น ดีมานด์มากกว่าซัพพลาย โดยกระทรวงพลังงานจะต้องเสนอขออนุมัติงบประมาณต่อครม.ภายในเดือน ส.ค. 2565 เพื่อให้ทันก่อนการปรับขึ้นค่า Ft รอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565
นอกจากนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังส่งผลให้ตลาดมีความผันผวน การคมนาคมเรือขนส่งยากลำบาก รัสเซียตัดแก๊สไปยุโรป ดังนั้น กระทรวงฯ จึงใช้วิธีผสมผสานทั้งน้ำมันเตา น้ำมันดีเซลมาบรรเทาราคาให้เฉลี่ยและถูกที่สุด
“ปกติราคา LNG จะยู่ที่ราว 13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู แต่ขณะนี้ราคาตลาดจรนำเข้ามายู่ที่ 55 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เราต้องนำเข้า 20-30% เมื่อราคาปรับสูงถึง 5 เท่า จะเท่ากับราคาเชื้อเพลิงต้องขยับมา 2 เท่าตัว อยากให้ทุกคนเข้าใจ บางครั้งคนที่อ้างว่าเป็นผู้แทนประชาชนพูดว่าสถานการณ์ตอนนี้ปกติ จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ต้องดูด้วยว่าตอนนี้โควิดและวิกฤตก็ยังอยู่ ซึ่งการเตรียมตัวรับมือค่าก๊าซฯ แพงนั้น กฟผ. ได้ใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าขณะนี้ราวเดือนละ 100 กว่าล้านลิตร โดยเดือนส.ค.ได้ใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าไปที่ 160 ล้านลิตร ส่วนเดือนเดือนก.ย. ได้มีการเตรียมนำน้ำมันมาที่ 220 ล้านลิตร แม้ว่าดีเซลจะยังแพงแต่ก็ยังถูกกว่า LNG”