'รัฐบาล' บริหารงานอย่างไร? ในวันที่ไทยไร้ 'หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ'
จับตาการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่ง "ประยุทธ์" หยุดปฏิบัติหน้าที่ ลุ้น "ประวิตร" ในฐานะรักษาการนายกฯเรียกประชุมคณะกรรมการสำคัญๆหรือไม่ เผยมีบอร์ดหลายคณะรอประชุม “สุพัฒนพงษ์” เผย “ประวิตร”ยังไม่ได้ตั้งใครเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ
ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องของ ส.ส. ฝ่ายค้านที่ยื่นผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงหรือไม่ โดยที่ฝ่ายค้านยื่นคำร้องว่า พล.อ. ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค. 2565
โดยตุลาการเสียงข้างมากยังมีมติ 5:4 ให้ พล.อ. ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2565 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยคดีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ และตั้งให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี
แม้ว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในระหว่างเป็นนายกฯรักษาการ พล.อ.ประวิตร มีอำนาจเต็มในการบริหารงานรวมถึงการปรับ ครม. และยุบสภา
และแม้ว่า อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะกล่าวว่าการทำงานในฐานะรองนายกฯปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้มีผลกระทบอย่างใดต่อการบริหารประเทศ และการปฏิบัติงานของข้าราชการ หรือการดำเนินนโยบายอื่น ๆ ของรัฐบาล ยืนยันว่ารัฐบาลสามารถเดินหน้าทำงานต่อไปได้ ไม่มีสูญญากาศทางการบริหารประเทศแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อกฎหมายพบว่าการใช้อำนาจบริหารราชการของพล.อ.ประวิตร ในการบริหารราชการแผ่นดินในฐานะรักษาการแทนนายกรัฐมนตรีเป็นไปตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ส่วนที่ 1 การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง หมวด 6 เรื่องการรักษาราชการแทนมาตรา 41 ที่ระบุว่าในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายก
รัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน
นอกจากนี้ในมาตรา 49 ระบุว่าการเป็นผู้รักษาราชการแทนตามพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนอำนาจนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัด ปลัดกระทรวง หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าปลัดกระทรวง ปลัดทบวง อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่จะแต่งตั้งข้าราชการอื่น เป็นผู้รักษาราชการแทนตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่
อย่างไรก็ตามแม้จะมีข้อกฎหมายรองรับการทำหน้าที่ของรักษาการนายกฯ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการระดับชาติ โดยเฉพาะคณะกรรมการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการเศรษฐกิจที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พล.อ.ประยุทธ์ ได้นั่งเป็นประธานการประชุมมาโดยตลอด
นอกจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ เคยกล่าวว่าตนเองคือ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล” โดยไม่ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี คนใดคนหนึ่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล เหมือนที่เคยมอบหมายมาก่อนหน้านี้
บทบาทหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ผ่านมา นอกจากการกล่าวปาฐกถาเปิดงานต่างๆ ยังทำผ่านการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คณะกรรมการนโนบเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่เพิ่งมีการแต่งตั้งขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
ที่ผ่านมาบทบาทของพล.อ.ประวิตร จะเป็นประธานในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่กี่คณะ เช่น คณะกรรมการนโยบายดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และมีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลบ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็เน้นไปที่โครงการเกี่ยวกับการจัดการน้ำและชลประทานเป็นหลัก
ทั้งนี้จากการสอบถามจากแหล่งข่าวระดับสูงจากรัฐบาล เปิดเผยว่าอำนาจของพล.อ.ประวิตร ในฐานะรักษาการนายกฯ สามารถเรียกประชุมคณะกรรมการระดับชาติด้านเศรษฐกิจได้ทุกคณะ แต่คาดว่า ส่วนใหญ่ถ้าไม่เร่งด่วน พล.อ.ประวิตรก็จะรอก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสุดท้ายออกมา แต่ถ้ามีเรื่องที่จำเป็นต้องตัดสินใจก็เรียกประชุมได้ขึ้นกับการตัดสินใจของพล.อ.ประวิตร
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์ทีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ตอบคำถามผู้สื่อข่าวฝนประเด็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่าจะต้องเปลี่ยนเป็น พล.อ.ประวิตร หรือไม่นั้น ยังไม่ทราบข้อกฏหมาย และยังไม่มีใครแจ้งว่า ภาระกิจใดบ้างที่พล.อ.ประวิตร จะรักษาการเอง หรือ มอบหมาย ให้รองนายกฯคนอื่นๆดูแลเพราะภารกิจเดิมของพล.อ.ประวิตรนั้นก็มีอยู่เดิมอยู่แล้ว และ ยังมีภาระกิจในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐด้วยคงต้องรอความชัดเจนในเรื่องนี้อีกครั้ง
ทั้งนี้จากการตรวจสอบการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจระดับชาติที่รอการประชุมฯได้แก่ การประชุม นบข. การประชุม กพช. เป็นต้น โดย การประชุมฯนบข.เดิมจะทีกำหนดการประชุมในวันที่ 8 ก.ย.นี้ เพื่อพิจารณาการประกันรายได้ปีการผลิต 2565 /2566 วงเงินกว่า 1.5 แสนล้านบาท
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้ทำหนังสือมาสอบถามทางพล.อ.ประวิตร ว่าการประชุม นบข.จะดำเนินการในวันเดิมหรือไม่ รวมทั้งในหนังสือตอบกลับนั้นจะมอบหมายให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุม นบข.เองหรือไม่ หรือว่าพล.อ.ประวิตรจะนั่งเป็นประธานการประชุมด้วยตนเอง
คงต้องจับตาดูว่าในบทบาทของรักษาการนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประวิตร นั้นจะมีการนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหรือไม่ หรือว่าเลือกที่จะรอให้มีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญออกมาก่อน อีกไม่นานคงจะรู้กัน
เพราะบางทีหากพล.อ.ประวิตรไม่เรียกประชุมอาจไม่ใช่ภาวะสูญญากาศทางทางตำแหน่งของผู้ที่มานั่งรักษาการนายกรัฐมนตรี แต่อาจจะหมายถึงสูญญากาศของการใช้อำนาจในการนั่งหัวโต๊ะ พิจารณาเรื่องสำคัญๆ ที่หากคนที่รักษาการฯไม่ใช้อำนาจตามจังหวะเวลาที่เหมาะสม ก็จะมีคนอื่นที่มองหาช่องทางในการใช้อำนาจแทน ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อรัฐบาล แต่อาจส่งผลเสียต่อประเทศชาติได้