ลุ้น! ครม.วันนี้ เคาะงบกลางฯ 8,000 ล้าน ลดค่าไฟ 2 กลุ่มเปราะบาง
“พลังงาน” หวัง “มหาดไทย” ชงของบกลางฯ 8,000 ล้าน ช่วยลดค่าไฟฟ้าให้ 2 กลุ่มเปราะบางเข้าครม. วันที่ 30 ส.ค. นี้ เพื่อให้ทันต่อการประกาศปรับขึ้นค่า Ft ของกกพ. 1 ก.ย.-31 ธ.ค. 2565 ย้ำ หากรัฐเคาะงบไม่ทัน ประชาชนจะต้องจ่ายค่าไฟหน่วยละ 4.72 บาท
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแนวทางช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา ภายใต้งบประมาณรวม 4 เดือน ประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า คือ
1. กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย ตั้งแต่เดือนก.ย.– ธ.ค. 2565 (ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นค่า Ft เดือนพ.ค.-ส.ค. จำนวน 23.38 สตางค์ต่อหน่วย และส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนก.ย.–ธ.ค.จำนวน 68.66 สตางค์ต่อหน่วย) ทั้งนี้ จะส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเดือนก.ย.-ธ.ค. 2565 ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะจ่ายค่า Ft เท่ากับงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2565 หรือจ่ายค่าไฟฟ้าราว 3.78 บาทต่อหน่วย ถือว่าไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไร
2. กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน โดยการให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนก.ย.–ธ.ค.2565 แบบขั้นบันได ในอัตรา 15 -75% โดยผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มนี้ หากต้องการที่จะได้รับส่วนลดค่า Ft ก็จะต้องประหยัดไฟฟ้าตามสัดส่วนต่าง ๆ หรือถ้าเกิน 501 หน่วยต่อเดือน ก็จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราหน่วยละ 4.72 บาท ตามการปรับขึ้นของกกพ. เป็นต้น
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการตามแนวทางช่วยเหลือทั้ง 2 กลุ่ม เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 80% ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 89% ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย นอกจากนี้ จะดำเนินการให้ครอบคลุมบ้านที่อยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของ กฟผ. และผู้ใช้ไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ
นายกุลิศ กล่าวว่า ในการนำเสนอของบประมาณ 8,000 ล้านบาท ดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น กระทรวงพลังงานจะไม่ได้เป็นผู้เสนอของบประมาณโดยตรง แต่จะเป็นกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้นำเสนอในฐานะเจ้ากระทรวงที่ดูแลกฟน. และกฟภ. โดยกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้เสนอของบกลางจากสำนักงบประมาณ และสำนักงบประมาณจะเป็นผู้ทำเรื่องเสนอในการประชุมครม. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติงบประมาณดังกล่าวต่อไป
ส่วนเรื่องการขอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้กรอบวงเงิน 85,000 ล้านบาท ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เรื่องดังกล่าวได้ส่งไปที่สำนักเลขาคณะรัฐมนตรี (สลค.) ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ก่อนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนตัวไม่ทราบว่าได้มีการบรรจุเข้าเป็นวาระแล้วหรือยัง ซึ่งหลายข่าวได้ระบุว่า กฟภ. ได้มีการคัดค้านนั้น จริง ๆ แล้วเป็นเรื่อง process ซึ่ง กบง. ได้แจ้งมติดังกล่าวไปที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยกระทรวงมหาดไทยก็ได้ทำเรื่องเพื่อของบกลางจากสำนักงบประมาณ ยืนยันว่าไม่ได้มีอะไรขัดแย้งแต่อย่างใด
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จริง ๆ แล้วการขออนุมัติงบประมาณดังกล่าวเพื่อช่วยลดค่า Ft ให้กับประชาชนในรอบ 4 เดือนที่เหลือของปีนี้นั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะเร่งสรุปงบประมาณล่วงหน้าเป็นเดือน เพื่อที่จะได้ให้การไฟฟ้าได้มีเวลาเตรียมตัวในเรื่องของบิลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยวันที่ 30 ส.ค. 2565 ครม.จะต้องอนุมัติงบประมาณแล้ว หากไม่มีการนำเสนอที่ประชุมก็จะไม่ทันรอบใหม่นี้ เพราะหากนำเข้าครม.ล่าช้า จะมีปัญหาในเรื่องของการที่จะต้องมาเคลียร์ค่าใช้จ่ายย้อนหลังอีก จะทำให้เสียเวลาและสร้างความยุ่งยากให้กับทุกฝ่าย เป็นต้น
“หากสำนักงบประมาณไม่รีบนำเสนอขอความเห็นชอบงบประมาณ ประชาชนก็จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าวันที่ 1 ก.ย. นี้ที่หน่วยละ 4.72 บาท เพราะกกพ.ได้ประกาศปรับขึ้นค่า Ft ไปแล้ว ซึ่งรัฐเองก็น่าจะเห็นสัญญาณที่ชัดเจนตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาว่าราคาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น มาจากหลายปัจจัย เช่น ก๊าซฯ ในอ่าวไทยลดลง นำเข้า LNG ที่ราคาสูงจนต้องมีการใช้น้ำมันเตา น้ำมันดีเซลมาบรรเทาราคาให้เฉลี่ยและถูกที่สุด ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการช่วยเหลือค่าไฟตามที่กระทรวงพลังงานนำเสนอก็จะต้องเร่งพิจารณางบประมาณดังกล่าวอย่างเร่งด่วน” แหล่งข่าว กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวเลขส่วนลดแบบขั้นบันไดในอัตรา 15 -75 % ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน จะต้องรอครม.อนุมัติอีกครั้ง คือ การใช้ไฟตั้งแต่ 301-350 หน่วยต่อเดือน ได้ส่วนลด 75% ของค่าเอฟที หรือได้รับส่วนลดค่าเอฟทีประมาณ 51.50 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งมีผู้ใช้ไฟประมาณ 919,163 ราย กรณีใช้ไฟตั้งแต่ 351 - 400 หน่วยต่อเดือน จะได้ส่วนลด 45% หรือได้รับส่วนลดค่าเอฟทีประมาณ 30.90 สตางค์ต่อหน่วย มีผู้ใช้ไฟประมาณ 741,199 ราย กรณีใช้ไฟตั้งแต่ 401-500 หน่วยต่อเดือน จะได้ส่วนลด 15% หรือได้รับส่วนลดค่าเอฟทีประมาณ 10.30 สตางค์ต่อหน่วย มีผู้ใช้ไฟประมาณ 1.06 ล้านราย
ส่วนการขอกู้เงินจำนวน 85,000 ล้านบาท ของ กฟผ. นั้น เกิดจากการที่ กฟผ. ต้องแบกรับภาระค่า Ft แล้วกว่า 100,000 ล้านบาท แต่ในทางบัญชีของกฟผ.ไม่ขาดทุน ถือเป็นรายได้ค้างชำระที่ยังไม่ส่งมา ส่งผลให้ระหว่างนี้จะต้องขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการกู้เงินวงเงินโดยรวม 85,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องและลงทุนระหว่างที่ยังไม่มีการชำระเงินมาให้กฟผ. ซึ่ง กฟผ.จะทยอยกู้เงินตามความจำเป็นและการลงทุนที่แท้จริง
นอกจากนี้ ในการเตรียมตัวรับมือค่าก๊าซฯ แพงนั้น กฟผ. ได้ใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าขณะนี้ราวเดือนละ 100 กว่าล้านลิตร โดยเดือนส.ค.ได้ใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าไปที่ 160 ล้านลิตร ส่วนเดือนเดือนก.ย. ได้มีการเตรียมนำน้ำมันมาที่ 220 ล้านลิตร แม้ว่าดีเซลจะยังมีราคาที่สูงอยู่แต่ก็ยังถือว่าถูกกว่าราคา LNG