เปิดวิสัยทัศน์ ‘ผ.อ.CEA’ คนใหม่ ภารกิจดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยสู่เวทีโลก
"ชาคริต พิชญางกูร" กางแผนพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชื่อมโยง 15 อุตสาหกรรม หนุนจ้างงาน 1 ล้านคน ทำแผนอนาคต 10 ปี รับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ชู 3 แผนงานพัฒนาผู้ประกอบการ เพิ่มการวางแผนธุรกิจ จดทะเบียนลิขสิทธิ์ หนุนส่งออกคอนเทนท์ จับคู่ธุรกิจหนุนฟันด์ดิ้งช่วยรายเล็กเติบโต
การส่งเสริม สนับสนุน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ถือว่าเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดัน “ซอฟต์พาวเวอร์” ให้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ชาคริต พิชญางกูร” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) คนใหม่ เกี่ยวกับแนวทาง และแผนการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยในระยะ 5 – 10 ปีข้างหน้าต่อจากนี้
ชาคริตระบุว่าปัจจุบันมูลค่าของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทยมีทิศทางที่เติบโตขึ้นทุกปี ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระบุว่าขนาดของมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยในปี 2563 (ก่อนจะเกิดการระบาดของโควิด-19) มีมูลค่าสูงถึง 1.19 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7.58% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกว่า 15 อุตสาหกรรม และมีการจ้างงานสูงถึง 1ล้านตำแหน่ง
ในช่วงที่เข้ามารับตำแหน่ง ผ.อ. CEA คนใหม่ สำนักงานฯ อยู่ระหว่างจัดทำแผนงานเกี่ยวกับการขับเคลื่อน และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศหลายแผนงาน โดยแผนแรกคือแผนปฏิบัติการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ฉบับปี 2566-2570 และแผนปฏิบัติการย่อยในปี 2566-2570 โดยแผนทั้งสองฉบับเพื่อทดแทนแผนเดิมที่หมดอายุในปี 2565 เมื่อจัดทำแผนแล้วเสร็จก็จะมียุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการระยะต่อไปที่ชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ในการจัดทำแผนปฏิบัติการทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว CEA ได้ทำในเรื่องของการการมองทิศทางของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในอนาคต (Foresight) ในระยะเวลาประมาณอีก 10 ปี เนื่องจากมีความเป็นห่วงเรื่องของ “ดิสรัปชั่น” ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเวลาเกิดดิสรัปชั่นในอุตสาหกรรมนี้จะกระทบคนทำงานในสาขานี้จำนวนมากโดยอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมฯนี้เพื่อให้ได้แผนที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด
“คาดว่าจะเกิดการดิสรัปเร็วๆนี้อีกเพราะว่าเทคโนโลยีเริ่มเปลี่ยนและเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งแผน Creative Foresight จะมองภาพแต่ละอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อที่จะได้เตรียม เรื่องนโยบายและการดูแลผู้ประกอบการ ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของ CEA ที่จะต้องดูแลผู้ประกอบการในส่วนนี้ ซึ่งการศึกษาเรื่องนี้อย่างลงลึกจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจส่วนนี้ได้”
สำหรับนโยบายที่รับมอบหมายมาจากรัฐบาลในระยะเร่งด่วน CEA ได้รับนโยบายจากรัฐบาลคือ การนำเอาเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาช่วยฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหลังจากการระบาดของโควิด-19 ผ่านภารกิจ 3 ด้าน พัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ เพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธุรกิจสร้างสรรค์ และการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์
นอกจากนี้ยังได้รับมอบหมายนโยบายจากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้มอบหมายให้ CEA ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในส่วนเรื่องของอุตสาหกรรมซอฟแวร์ และอุตสาหกรรมเกมส์ แอนนิเมชั่น เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนมาก จึงต้องการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย และในประเทศไทยเรามีคนที่เก่งในสาขาเกมส์ออนไลน์ และการเขียนโปรแกรมเป็นจำนวนไม่น้อย การวางโครงสร้างพื้นฐาน และการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ จะสามารถจูงใจให้นักลงทุนรายใหญ่ในสาขาเกมส์ แอนนิเมชั่น รวมทั้งกีฬาอีสปอร์ตเข้ามาลงทุนในประเทศได้อีกมาก
ปัจจุบัน CEA ได้จัดทำแผนพัฒนาอุตสหกรรมสร้างสรรค์ ทั้ง 15 อุตสาหกรรม ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วไปแล้วทั้งหมด 8 สาขา ได้แก่ สาขางานฝีมือและหัตถกรรม ดนตรี ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ การกระจายเสียง การพิมพ์ และซอฟท์แวร์ (เกมและแอนิเมชั่น) เพื่อศึกษาวิจัยสถานการณ์ และขับเคลื่อนการพัฒนาในระยะต่อไป CEA ได้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไข รวมถึงการผลักดันโครงการที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม ซึ่งในภาพรวมการพัฒนาตามแผนฯ จะเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และซอฟต์พาวเวอร์เติบโตได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้มูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยที่เพิ่มขึ้นจะมีผลต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ (Multiplier) มากถึง 1.95 เท่า หรือการที่ลงทุนไป 1 บาทในระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะทำให้จีดีพีประเทศ เพิ่มขึ้น 1.95 บาท ดังนั้นหากสามารถลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจได้รวดเร็ว ก็จะเกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน
ดังนั้น CEA กำลังศึกษาว่าอุตสาหกรรมใดของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงที่สุด และส่งผลต่ออุตสาหกรรมอื่นๆในวงกว้างมากที่สุด เพราะการลงทุนในบางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในวงกว้าง เช่น เมื่อเราลงทุนไปในธุรกิจโฆษณา เมื่อธุรกิจโฆษณาดีขึ้นธุรกิจบรอดแคสก็จะเติบโตขึ้นมาก ซึ่ง CEA กำลังศึกษาอยู่เพื่อให้สามารถที่จะเอาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปโฟกัสในการส่งเสริมอุตสาหกรรมนั้นๆ เพื่อที่จะสร้างผลทางเศรษฐกิจและการจ้างงานมากขึ้น
“CEA เป็นหน่วยงานที่ทำในเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดังนั้นงานเชิงกลยุทธ์ วิจัย และวิชาการ ของเราจึงต้องทำควบคู่ไปในส่วนที่จะช่วยตอบโจทย์ว่าทำเรื่องสร้างสรรค์แล้วต้องไปในในเรื่องของการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย เพราะเป็นสิ่งที่บอกว่าสร้างมูลค่าได้อย่างไร โดยเมื่อเลือกได้ก็จะทำเป็นแผนเฉพาะด้าน และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ โดยเลือกจากโฟกัสว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์นั้นๆจะสร้างมูลค่าให้กับประเทศอย่างไร ได้จีดีพีเท่าไหร่ output และรายได้เท่าไหร่”
สำหรับการตั้งเป้าหมายการส่งเสริมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้า ในมุมมองของ ผ.อ.CEA คนใหม่บอกว่าจะเน้นใน 3 เรื่องเพื่อสร้างความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ได้แก่
1.การพัฒนาผู้ประกอบการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสร้างความเข้าใจโมเดลธุรกิจสร้างสรรค์ให้กับผู้ประกอบการ โดยมองว่าขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องเน้นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมด้านนี้ของไทยไปยังต่างประเทศให้มากขึ้น ทั้งในแง่ของสินค้า และผู้ประกอบการ ซึ่งต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้าใจตลาดมากขึ้น แล้วเอาแนวคิดของตลาดเข้ามาพัฒนาสินค้าและบริการ ไม่ใช่เอาสภาพแวดล้อมที่อยู่แล้วก็ผลิตสินค้าจากมุมมองตัวเอง ต้องมองคือต้องมองว่าผลิตแล้วจะขายใคร และใครคือคู่แข่ง ต้องมีการวิเคราะห์ที่ชัดเจน มองตรงนี้ให้ชัดก่อนแล้วค่อยผลิตสินค้าออกมาขาย ซึ่งต้องนำเรื่อง Business Model เข้ามาส่งเสริมให้มากที่สุด
นอกจากนี้ต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีความรู้เรื่องเทคโนโลยี เปลี่ยนจาก Creative มาเป็น CreaTech ที่มีความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยี คือเป็นนักสร้างสรรค์ที่เข้าใจเทคโนโลยีแล้วสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆออกมาได้มากที่สุด และจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยแผนจะมีทั้งการสร้างเรียนรู้ ไปจนถึงการบ่มเพาะ และทำเวิร์คช็อปเชิงรุก โดยอยากให้มีนักสร้างสรรค์ในส่วนนี้ประมาณ 10% ของผู้ประกอบการทั้งหมด
“เรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และซอฟต์พาวเวอร์เป็นมุมมองจากข้างนอกที่มองเข้ามา ซึ่งที่ผ่านมาเราทำในประเทศมากแล้วก็ทำได้ดีด้วย แต่ในปัจจุบันต้องมองข้างนอกที่จะเป็นโอกาส เป็นตลาด ซึ่งเมื่อเรามองจากข้างนอกเข้ามาเรื่องของ Mind Set เราจะเปลี่ยนไปจากเดิม ต้องเข้าใจตลาดก่อน รวมทั้งโครงสร้างราคา ในแต่ละตลาด ในแต่ละช่องทางว่าจะขายอย่างไรก็ต้องดูในส่วนเรื่องของช่องทาง โดยมองทั้งระบบตั้งแต่ส่วนแรกแล้วค่อยทำสินค้าออกมาขายเพื่อให้แข่งขันได้
2.การผลักดันให้ผู้ประกอบการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งเรื่องลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ตามสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพราะในเรื่องของสินค้า ผลิตภัณฑ์ กระบวนการทำงาน ทุกอย่างเมื่อคิดออกมาแล้วต้องมีการจดสิทธิบัตร เพื่อป้องกันเรื่องการคัดลอกเอาไปทำได้โดยง่าย รวมทั้งต้องทำในเรื่องของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งในประเทศไทยมีจำนวนมาก และเป็นสิ่งบ่งบอกว่าในประเทศของเรามีความพิเศษถึงสามารถที่จะเพาะปลูกหรือทำในเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาได้ เช่น เรื่องข้าว ผลไม้ พืชสมุนไพรที่มีมูลค่ามากในต่างประเทศ
โดยการทำงานในส่วนนี้จะทำงานควบคู่ไปกับงานเดิม คือการไปหาอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ ซึ่ง CEA ลงไปหาสำรวจพื้นที่แต่ละพื้นที่เพื่อส่งเสริมสนับสนุนสินค้าที่มีความโดดเด่น แล้วหาวิธีว่าจะมีการส่งเสริมอย่างไร เพื่อให้มีคุณค่าเกิดขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า การทำแพคเกจใหม่ การสร้างเรื่องเล่า การทดลองทำเทศกาลขนาดเล็ก ก่อนที่จะขยายงานในพื้นที่และทำต่อเนื่อง เช่น Chiang Mai Design Week หรือเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ Bangkok Design Week หรือ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ และ Isan Creative Festival หรือ เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ เป็นต้น
และ 3.เรื่องของการจับคู่ธุรกิจรายใหญ่และรายย่อยเพื่อสนับสนุนให้เกิดการระดมทุน (Funding) ซึ่ง CEA จะทำหน้าที่ในการช่วยเชื่อมโยงในส่วนนี้ ทั้งในส่วนหน่วยงานของภาครัฐ กับเอกชน และผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็ก รวมถึงการอำนวยความสะดวก และช่วยส่งเสริมการผลักดันนโยบายที่สนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วย
“CEA จะเพิ่มบทบาทในการการทำหน้าที่เรื่องของการช่วยให้เกิดการระดมทุน (Funding) ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย โดยทำหน้าที่เชื่อมโยงให้เจอกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจใหญ่มาร่วมพัฒนาผู้ประกอบการในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยที่เป็นรายย่อยให้ยกระดับสินค้าและบริการได้มากขึ้น”