สบพ.แจงกรณียื่นของบปี 2566 จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์
สบพ.แจงกรณียื่นของบประมาณปี 2566 จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ฝึก ยันทำตามระเบียบ มีความจำเป็นต้องจัดหาทดแทนฝูงบินเดิมใกล้ครบกำหนดชั่วโมงบิน
นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วาระ 2 มาตรา 29 เมื่อวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2565 กล่าวถึงสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กรณีงบประมาณซื้อเฮลิคอปเตอร์ (ฮ.) ฝึกจำนวน 1 ลำ นั้น สบพ. ขอชี้แจงข้อมูล/ข้อเท็จจริงดังนี้
1.ปัจจุบัน สบพ. มี ฮ. ฝึก จำนวน 3 ลำ ใช้ในการฝึกอบรมหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี - เฮลิคอปเตอร์ (เพื่อรองรับภารกิจของชาติเป็นหลัก โดยหน่วยงานของรัฐที่ส่งมาฝึกอบรมเป็นประจำทุกปี ได้แก่ กองบินตำรวจ กองทัพเรือ กรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นต้น โดยส่งข้าราชการเข้ารับการฝึกอบรมปีละไม่น้อยกว่า 8 นาย) จัดซื้อมาตั้งแต่ปี 2554 และ 2555 โดยจัดซื้อกับ บริษัท เฮลิสัคก์ เอวิเอชั่น จำกัด (ปัจจุบันปิดกิจการ ได้ผ่านการใช้งานจนถึงปัจจุบัน 10 ปีเศษ ไม่เคยมีประวัติการตกหรือเกิดอุบัติเหตุ โดยใช้งานครบ 2,000 ชั่วโมงบินและได้ทำการซ่อมใหญ่ (overhaul ทั้ง 3 ลำ มาแล้ว 1 ครั้ง และใกล้จะครบกำหนด 2,000 ชั่วโมงบินถัดไป ในปีนี้ 2565 และปี 2566 (ตามชั่วโมงบินที่เหลือของแต่ละลำ) ซึ่งหากจะนำไป overhaul อีกรอบ อาจมีความเสี่ยงเกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจ ประการสำคัญราคา overhaul แตกต่างจากราคาจัดซื้อใหม่เพียงร้อยละ 25 สำนักงบประมาณจึงให้ สบพ.เสนอจัดซื้อใหม่ หากแต่ความต้องการเมื่อพิจารณาจากภารกิจ สบพ. มีความต้องการ ฮ. ทดแทน จำนวน 3 ลำ จึงได้ขอรับการจัดสรรในจำนวนดังกล่าวแต่ได้รับการจัดสรรตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพียงจำนวน 1 ลำ
2. หลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี-เฮลิคอปเตอร์ ของ สบพ. ได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย การจัดการฝึกอบรมต้องดำเนินการภายใต้มาตรฐานสากล ซึ่งถูกกำหนดไว้ในคู่มือการฝึกอบรม (Training Procedure Manual : TPM) ในการจัดการฝึกอบรมอากาศยานที่ใช้ทำการฝึก ทั้งยี่ห้อและรุ่นจะถูกระบุไว้ใน TPM รวมถึงคุณสมบัติของครูฝึกที่จะต้องมีศักย์การบินของ ฮ. แบบตามที่กำหนดและช่างซ่อมบำรุง ฮ. ก็ต้องมีใบอนุญาตช่อม ฮ. ตามแบบที่กำหนดเช่นกันหากจะปรับเปลี่ยนไปใช้ ฮ. ฝึกยี่ห้ออื่น จะต้องใช้เวลาฝึกครูการบินและช่างซ่อมบำรุงใหม่ ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน อันจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ
3. การจัดซื้อครุภัณฑ์ รายการเฮลิคอปเตอร์เครื่องยนต์เดียวสำหรับฝึกบิน (ฮ.) จำนวน 1 ลำของ สบพ. ซึ่ง สบพ. ได้จัดทำเอกสารชี้แจงต่อ คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ICT รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน (คณะอนุฯ) มีใบเสนอราคาทั้งหมด 4 ราย คณะอนุฯ พบว่า ใบเสนอราคา จำนวน 3 รายมีปัญหา จึงได้ให้ สบพ.กลับไปทบทวนและนำมาเสนอในคณะอนุฯ อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาเป็นประเด็นที่อนุฯ (นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ) ได้นำเสนอว่า สบพ. ไม่ได้แก้ไขเอกสารชี้แจงที่มีปัญหา (ใบเสนอราคา 3 ราย) ที่คณะอนุฯ ได้ให้ สบพ. นำกลับไปทบทวน นั้น
ในการเข้าประชุมชี้แจงคณะอนุฯ ครั้งที่ 1 (วันที่ 4 กรกฎาคม 2565) ของ สบพ. อนุฯ (นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ) ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับ ฮ. เรื่องข้อมูลผู้เสนอราคา 4 ราย ซึ่งผู้เสนอราคา 3 ราย นั้นไม่มีบริษัทใดที่ทำการค้าขายเกี่ยวกับเครื่องบิน และเหมือนมีการปลอมลายเซ็นในใบเสนอราคา สำหรับอีก 1 รายที่เป็นผู้เสนอราคาต่ำที่สุด ไม่เคยร่วมงานกับหน่วยงานรัฐตั้งแต่จัดตั้งบริษัท รวมถึงผู้จัดการฝ่ายขายมีคดีซื้อซากเครื่องบินตก ซึ่งคณะอนุฯ มีมติให้ สบพ. จัดทำเอกสารประกอบการชี้แจงงบประมาณใหม่ เฉพาะรายการ ฮ.โดยแสดงข้อมูล เช่น เหตุผลความจำเป็นในการจัดซื้อ ใบเสนอราคา เอกสารแสดงการเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย
ต่อมาในการเข้าชี้แจงคณะอนุฯ ครั้งที่ 2 (วันที่ 23 กรกฎาคม 2565) สบพ. ได้จัดส่งเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการส่งเอกสารเฉพาะผู้เสนอราคาที่เสนอราคาต่ำสุด ได้แก่ บริษัท ลัคก์ แอร์โร่ เซลล์(ประเทศไทย) จำกัด (บ. ลัคก์) ประกอบด้วย ข้อมูลใบเสนอราคา ฮ. รวม จำนวน 3 ลำ และราคาต่อ 1 ลำ (ซึ่งเดิมได้เสนอเอกสารในการชี้แจงต่อคณะอนุฯ ครั้งที่ 1 แล้ว) พร้อมกับหลักฐานใบอนุญาตให้เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการจาก ROBINSON HELICOPTER COMPANY หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล และเหตุผลความจำเป็นในการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ Robinson R 44 ต่อที่ประชุมคณะอนุฯ (ครั้งที่ 2) ประธานได้ตรวจสอบเอกสารใบอนุญาตให้เป็นผู้แทนจำหน่าย ซึ่งในที่ประชุมคณะอนุฯ ไม่ได้มีการสอบถามประเด็นใบเสนอราคาอีก 3 ราย (ที่อนุฯ(นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ) เห็นว่ามีปัญหา) แต่มีการพูดคุยประเด็นที่บริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดทำเครื่องบินตก แต่ก็ไม่ได้มีการสอบถามมายัง สบพ. เพื่อให้ชี้แจงประเด็นใดเพิ่มเติม ประธาน (ที่ประชุม) จึงมีมติ ไม่ปรับลดงบประมาณของ สบพ.
สำหรับผู้เสนอราคาทั้ง 3 รายที่อนุฯ(นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ) แจ้งว่ามีปัญหานั้น ได้มีการจดทำเบียนการค้าว่าสามารถเป็นนายหน้า ตัวแทน ตัวแทนค้าต่างในกิจการและธุรกิจทุกประเภทได้ แต่บริษัททั้ง 3 ต้องได้รับใบอนุญาตการเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยจากบริษัทผลิตเฮลิคอปเตอร์ในต่างประเทศ (Robinson Helicopter Company) ซึ่งทั้ง 3 บริษัทยังไม่ได้มีการขอเอกสารดังกล่าว
4. ประเด็นบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุด (บ. ลัคก์) ทำให้ ฮ. ตก 3 ครั้ง
การเสนอซื้อ ฮ. กับ บ. ลัคก์ นั้น เนื่องจากบริษัทดังกล่าวได้เสนอราคาต่ำที่สุด และได้รับใบอนุญาตให้เป็นตัวแทนจำหน่าย โดยมีเหตุผลที่ต้องจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ Robinson R 44 ดังนี้
4.1 การเลือกใช้ ฮ. R 44 โดยเป็นกลุ่มของเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในการฝึกบินโดยสากล เนื่องจากมีสมรรถะเหมาะสมกับหลักสูตรการเรียนการสอน อยู่ในกลุ่มเฮลิคอปเตอร์เครื่องยนต์เดียว แบบ Piston engine ใช้ฝึกนักบินเฮลิคอปเตอร์ตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนจบหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี – เฮลิคอปเตอร์ เป็นที่นิยมใช้ในการฝึกบินของโรงเรียนการบินส่วนใหญ่ทั่วโลก เนื่องจากมีระบบที่ไม่ซับซ้อน เป็นระบบพื้นฐานที่เหมาะสำหรับผู้เริ่มฝึกบินครั้งแรก ผู้เรียนสามารถเริ่มต้นเรียนรู้ เข้าใจและฝึกบินจนเกิดความชำนาญ นำไปพัฒนาต่อยอดในการบิน กับเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นต่อไป อีกทั้งง่ายต่อการจัดหาอะไหล่ในการซ่อมบำรุงเนื่องจากมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย
4.2 บุคลากรของ สบพ. ได้รับใบอนุญาต โดยได้รับการประทับศักย์ความสามารถกับ ฮ.R 44 สำหรับทำการเรียนการสอนมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จึงมีประสบการณ์ ทักษะความชำนาญสำหรับ ฮ.R 44 หากจะเปลี่ยนรูปแบบของเฮลิคอปเตอร์ต้องมีการฝึกอบรมบุคลากรสำหรับเฮลิคอปเตอร์รุ่นอื่น ๆ เพิ่มเติมซึ่งต้องใช้งบประมาณ และระยะเวลาฝีกอบรม
4.3 สอดคล้องกับระบบเครื่องฝึกบินจำลอง (Simulator) เฮลิคอปเตอร์ ที่ สบพ.มีใช้งานอยู่ในปัจจุบัน การฝึกกับเครื่องฝึกบินจำลองสามารถนำชั่วโมงบินกับ Simulator มาใช้รวมกับชั่วโมงฝึกบินกับเฮลิคอปเตอร์จริงได้ ซึ่ง สำนักงานการบินพลเรือนฯ กำหนดว่า เครื่องฝึกบินจำลอง ที่ใช้ประกอบการฝึกบินในหลักสูตรจะต้องเป็นระบบที่มีความสอดคล้องกับเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในการฝึกบินจริง
4.4 สบพ. ได้รับการรับรองหลักสูตรที่มีเนื้อหาให้ตรงตามข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย นั่นคือหลักสูตร R 44 Type Rating Course manual โดยหลักสูตรนี้ได้กำหนดไว้ให้ทำการบินกับ ฮ. R 44 ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องจัดซื้อ ฮ. R 44 เพื่อให้สอตคล้องกับหลักสูตรที่มีอยู่ในปัจจุบัน
การที่ ฮ.R44 ตกนั้น ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าเกิดจากตัวเครื่องขัดข้องหรือว่าจากผู้ทำการบิน หรือจากเหตุอื่นใด อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุของเฮลิคอปเตอร์ทั่วโลก สาเหตุหลักเกิดจาก Pilot Eror ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลพบว่า ฮ.R44 ได้ใช้งานอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก โรงงานผู้ผลิตอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และในการจัดซื้อ สบพ. ต้องจัดซื้อจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งหน่วยเกี่ยวข้อง(ศูนย์ฝึกการบินหัวหิน ได้แจ้งให้ทราบว่า ในประเทศไทยมีตัวแทนผู้จำหน่ายเพียงรายเดียวคือ บริษัท ลัคก์ แอร์โร่ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกับประวัติการใช้ ฮ. R44 ทั้ง 3 ลำของ สบพ.ในภารกิจการฝึกบินตลอดระยะเวลา 10 ปีเศษที่ผ่านมานั้น ฮ.ทั้ง 3 ลำไม่มีประวัติการเกิดอุบัติเหตุ (Accident) ประกอบกับผู้ตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาตนักบินของสำนักงานการบินพลเรือนฯ ได้ถือใบอนุญาต โดยได้รับการประทับศักย์ความสามารถกับ ฮ.R44 ด้วยเช่นกัน
5. ในประเด็นพาดพิงเรื่องใบเสนอราคาปลอม นั้น
เมื่อได้รับทราบข้อสังเกตดังกล่าว เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงาน สบพ.ได้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตั้งแต่คราวเมื่อได้รับทราบเรื่องในการไปชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ รัฐวิสาหกิจ ครั้งที่หนึ่ง (เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565) ก่อนหน้าที่จะตกเป็นข่าวด้วยแล้ว