“4 เดือน” ที่เหลือ กับเศรษฐกิจที่ไม่น่าไว้วางใจ
ครึ่งปีหลังของเศรษฐกิจไทยแม้จะผลดีจากภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว แต่ด้วยภาวะเงินเฟ้อ การชะลอตัวและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ยังเป็นประเด็นที่ควรจับตามอง
ย่างเข้าเดือน ก.ย. พร้อมกับสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่น่าไว้วางใจ สถานการณ์การเมืองก็ใช่ว่าจะดี ประเทศไทยไม่มี นายกรัฐมนตรี “ตัวจริง” แม้จะมี “รักษาการนายกฯ” และคณะรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็ม แต่ก็ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนมากสักเท่าไหร่นัก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน กดดันให้ทุกประเทศต้องปรับตัว หาทางรอด เพื่อให้ได้ไปต่อในโลกเศรษฐกิจยุคใหม่
ต้องยอมรับว่า สถานการณ์โรคระบาดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทั้งโลกต้องปรับเปลี่ยนมุมมอง วิธีคิด วิธีอยู่รอด โมเดลธุรกิจถูกปรับเพื่อให้รับกับโลกใหม่ ใครปรับตัวได้ ก็ได้ไปต่อ ส่วนคนที่ปรับตัวไม่ได้ ต้องตกอยู่ในภาวะจำยอม
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง จากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ อีไอซี คาดว่า มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นำโดยภาคท่องเที่ยว คาดหวังนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 2565 อาจเพิ่มขึ้นแตะ 10 ล้านคน (จากเดิม 7.4 ล้านคน) จากความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นจากอุปสงค์คงค้าง การทยอยลดมาตรการเดินทางระหว่างประเทศในหลายประเทศ รวมถึงไทย ทำให้ภาคบริการภาพรวม โดยเฉพาะบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ ภาคการเกษตร ยังได้รับอานิสงส์จากทั้งปัจจัยด้านปริมาณจากน้ำฝน และน้ำในเขื่อนที่ดี รวมถึงมาตรการสนับสนุนของรัฐ และด้านราคาจากความต้องการในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง (ยกเว้นข้าว) ซึ่งเมื่อประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและอุปสงค์คงค้างที่มีอยู่ ก็ดูจะเป็นแรงส่งสำคัญต่อการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน แม้จะได้รับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่เร่งตัวขึ้น
หากต้องยอมรับว่า การชะลอตัวและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ยังเป็นปัจจัยกดดันให้มู้ดแอนด์โทนของระบบเศรษฐกิจ การส่งออกสินค้าที่เป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมามีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะในด้านปริมาณ สะท้อนจากแนวโน้มการขยายตัวของการส่งออกจากด้านปริมาณที่ชะลอตัว ทำให้การลงทุนภาคเอกชน อาจขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นเดียวกัน ส่วนความช่วยเหลือจากทางภาครัฐในการพยุงเศรษฐกิจยังคงมีความจำเป็นอยู่ แต่แรงส่งอาจจะมีน้อยลง และอาจไม่ได้เป็นตัวดึงให้ภาคการบริโภคมีความคึกคักเพิ่มขึ้นมาได้
ขณะที่โลกยังหมุนเร็ว และยังมีความผันผวนจนยากจะคาดเดา การปรับตัว ปรับทัศนคติรับการเปลี่ยนแปลงน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศได้ไปต่อ การหลงอยู่กับความสำเร็จแบบเดิม อาจทำให้เราติด “กับดัก” ไม่อาจก้าวไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าได้ อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของบ้านเรา คือ ทัศนคติในการปรับตัว ซึ่งไทยมีคะแนนค่อนข้างน้อยส่งผลให้อันดับการแข่งขันของไทยในเวทีโลกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น