ไทยนับถอยหลังเจ้าภาพประชุม APEC CEO Summit 2022 ถกแนวทางเศรษฐกิจโลก
ไทยประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพ APEC CEO Summit 2022 ระหว่างวันที่16-18 พ.ค.2565 เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผู้นำธุรกิจเอเปคแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-การค้าโลก เน้นประชุมแบบ ‘Green Meeting’ พร้อมผนึกกำลัง PwC - พันธมิตรด้านองค์ความรู้ ผู้สนับสนุนข้อมูลธุรกิจเชิงลึก
สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) นำโดย นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธาน APEC CEO Summit 2022 และสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคไทย พร้อมด้วย นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ Executive Director, APEC CEO Summit 2022 และ Alternate Member สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคไทย แถลงความพร้อมในฐานะเจ้าภาพ จัดประชุม APEC CEO Summit 2022 เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผู้นำธุรกิจแห่งเอเชียแปซิฟิกรวม 21 เขตเศรษฐกิจแห่งปี
นายพจน์ กล่าวว่า ภาคเอกชนไทย พร้อมแล้วสำหรับบทบาทเจ้าภาพ ภายใต้การจัดงานในแนวทาง ‘Embrace, Engage Enable’ การประชุมที่นับเป็นการรวมตัวสุดยอดซีอีโอ ผู้นำเอเปค ผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำทางความคิดระดับภูมิภาคและระดับโลกจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจ ตลอดจนการแสวงหาแนวทางในการแก้ไขประเด็นที่สำคัญ และการจัดการกับความท้าทายที่ธุรกิจต่างๆ ที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั้งโลกกำลังเผชิญ ทั้งนี้ สำหรับสถานที่การจัดงาน ได้มีการยืนยันเป็น โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล เนื่องจากมีพิกัดใกล้เคียงกับการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC 2022) ของภาครัฐบาล ซึ่งจะอำนวยความสะดวกทางด้านการจราจรให้กับผู้เข้าร่วมประชุมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม จะมีการจัดงานเลี้ยงต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมฯ ในวันที่ 16 พ.ย. 2565 ณ เดอะ ริเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม และการจัด กาลาดินเนอร์ ณ ห้องรอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน ในวันที่ 17 พ.ย.2565 นอกเหนือจากสถานที่การจัดประชุมหลัก
สำหรับความพิเศษของการประชุมในปีนี้ จะมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงทางเศรษฐกิจและธุรกิจทั่วโลกเดินทางเข้าร่วมงานแบบพบหน้า รวมทั้งผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคมากกว่า 10 ประเทศ ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อต่าง ๆ ที่กำลังเป็นประเด็นที่น่าสนใจ รวมทั้งผู้นำทางความคิดและวิทยากร ที่ล้วนแต่เป็นบุคคลผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกอีกด้วย
“ในฐานะเจ้าภาพ นับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้เป็นเวทีทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญ ตลอดจนเป็นการแสดงศักยภาพของภาคธุรกิจไทยสู่เวทีโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคงด้านอาหาร การลงทุน การท่องเที่ยว การเงิน ทั้งนี้ ภาคเอกชนกำลังระดมกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่จากทั่วประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงาน ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญจากภาคเอกชนไทย เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต”นายพจน์ กล่าว
สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยร่วมนับถอยหลังและทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ร่วมกัน ด้วยจะเป็นการเดินทางเข้ามายังประเทศไทยจากนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ผู้นำทางความคิด และผู้นำระดับโลกรวมหลายพันรายจากทั่วโลก อันเป็นโอกาสอันดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนการสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของประเทศไทยในเวทีการค้าโลกร่วมกัน
นายเกษมสิทธิ์ กล่าวว่า การประชุมเน้นด้านการประชุมแบบ ‘Green Meeting’ หรือการจัดการประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืน (Sustainability) อันเป็นหนึ่งในห้ากลยุทธ์การทำงานของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค
ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวเราได้ถ่ายทอดผ่านการเลือกสถานที่ (Green Venue) ,การจัดเตรียมเอกสาร (Green Document), การจัดเตรียมอุปกรณ์ (Green Arrangement), การจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม (Green Catering) และการทำ Carbon Footprint ที่ส่งเสริมการประหยัดพลังงานและลดปริมาณขยะ อันเป็นแนวทางที่มีความหมายอย่างยิ่ง ด้วยผู้นำทางธุรกิจต่างมีวิสัยทัศน์ที่เห็นพ้องต้องกันในด้านการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมทั้งมีการนำ Mobile Application มาใช้ในการดูแลผู้เข้าร่วมประชุม (Smart Hospitality) อย่างเต็มรูปแบบ
เรายังมีความมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดเห็นที่ลึกซึ้งและครอบคลุม โปรแกรมตลอดสามวัน จึงอัดแน่นด้วยข้ออภิปรายและการแสดงข้อเสนอแนะระหว่างกันอย่างลุ่มลึก เพื่อส่งเสียงแห่งภาคธุรกิจไปยังภาคนโยบายในการร่วมขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกัน และแน่นอนด้วยว่า เป็นการแสดงพลังระหว่างผู้นำทางธุรกิจด้วยกันในฐานะประชาชนแห่งชุมชนเอเชียแปซิฟิค การเรียนรู้กันและกัน และร่วมสอดประสานทำงานร่วมกันระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจ
ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้การประชุมมีความลึกซึ้งด้านข้อมูล และกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดเห็นในวงกว้าง สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) จึงได้เพิ่มแนวทางในการส่งเสริมปัจจัยนี้ ด้วยการผนึกกำลังร่วมกับ PwC ในฐานะพันธมิตรด้านองค์ความรู้ (Knowledge Partner) โดยจะให้การสนับสนุนข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ เศรษฐกิจ และการลงทุนต่อคณะประชุม ด้วย PwC เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี กฎหมายและภาษี และที่ปรึกษาทางธุรกิจชั้นนำของโลก
นายชาญชัย กล่าวว่า ในฐานะพันธมิตรด้านองค์ความรู้ PwC จะนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเพื่อกระตุ้นและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำธุรกิจในประเด็นสำคัญ ๆ ที่ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญ ทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจเอเปคท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ เพื่อสร้างความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ ผ่านการประชุม APEC CEO Summit 2022 ในครั้งนี้