เปิดแผนฉบับ 2 ฟื้นฟู ‘การบินไทย’ หาสินเชื่อใหม่ - ปรับโครงสร้างทุน
กางแผนฟื้นฟู “การบินไทย” ฉบับปรับปรุงใหม่ หลังเจ้าหนี้โหวตผ่านร้อยละ 78.59 ปรับกรอบวงเงินจัดหาทุนใหม่เหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท เดินหน้าจัดหาสินเชื่อ – ปรับโครงสร้างทุน ตั้งเป้าดันส่วนทุนเป็นบวกภายในปี 2567
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2565 ภายหลังการฟื้นตัวของธุรกิจส่งผลให้การบินไทยมีกระแสเงินสด (แคชโฟว์) สะสมในปัจจุบันกว่า 10,000 ล้านบาท ทำให้ผู้บริหารแผนประเมินว่าเงินทุนใหม่ที่เป็นต้องหาเพื่อบริหารกิจการช่วงฟื้นฟูกิจการไม่จำเป็นต้องสูงถึง 50,000 ล้านบาท จึงยื่นขอลดกรอบวงเงินจัดหาทุนใหม่เหลือ 25,000 ล้านบาท
โดยวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา นัดประชุมเจ้าหนี้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) เพื่อโหวตขอแก้ไขแผนดังกล่าว ซึ่งผลการประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติตามมาตรา 90/46 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 โดยมีเจ้าหนี้ที่มีจำนวนหนี้รวมกันร้อยละ 78.59 ของจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุมและร่วมออกเสียงยอมรับการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการที่ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการได้ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
สำหรับรายละเอียดของการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นแผนฟื้นฟูฉบับที่ 2 ในการขับเคลื่อนการบินไทยสู่เป้าหมายออกจากการฟื้นฟูกิจการภายใน 3.5 ปี นับจาก มิ.ย.2564 มีสาระสำคัญของการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนี้
1.การก่อหนี้และการระดมเงินทุน รวมถึงแหล่งเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สินและเงินทุน
แก้ไขวงเงินการจัดหาสินเชื่อใหม่ในรูปแบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ไม่เกิน 6 ปี และ/หรือตราสารหนี้ที่มีอายุการไถ่ถอนไม่น้อยกว่า 6 ปี เป็นจำนวนไม่เกิน 12,500 ล้านบาทเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจปกติ และค่าใช้จ่ายในการลงทุนสำหรับการบินไทยและบริษัทย่อย โดยให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจในการเจรจา ตกลงเงื่อนไขในสัญญา และเข้าทำสัญญาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสามารถนำทรัพย์สินที่ไม่มีภาระผูกพันไปเป็นหลักประกัน นอกจากนี้การบินไทยจะมีการเพิ่มเติมการจัดหาสินเชื่อใหม่ในรูปแบบสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Facility) ในวงเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาท
2.การปรับโครงสร้างทุน การลดทุน และการเพิ่มทุน
แก้ไขการเพิ่มทุนจดทะเบียนไม่เกิน 80,172 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายในการทำให้ส่วนของทุนเป็นบวกภายในปี 2567 เพื่อให้หุ้นสามัญชองการบินไทยสามารถกลับไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อีกครั้งในปี 2568 โดยมีแนวทางสรุปได้ดังนี้
1.) ให้สิทธิผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือแปลงหนี้เป็นทุนจำนวนเงินไม่เกิน 12,500 ล้านบาท ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
2.) ให้เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้น (กระทรวงการคลัง) แปลงหนี้เงินต้นเดิมเป็นทุนจำนวน 12,827 ล้านบาท ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
3.) ให้เจ้าหนี้สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้หุ้นกู้ แปลงหนี้เงินต้นเดิมเป็นทุนจำนวน 25,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.75 ของหนี้เงินต้นเดิมของเจ้าหนี้แต่ละราย ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
4.) เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิมเป็นจำนวนประมาณ 25,000 ล้านบาท ในราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เต็มจำนวน ให้นำหุ้นส่วนที่ไม่มีการใช้สิทธิมาเสนอขายให้แก่พนักงาน ของการบินไทยและเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ต่อไปตามลำดับ
5.) ให้สิทธิเจ้าหนี้ที่มีดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นทุนจำนวนไม่เกิน 4,845 ล้านบาท ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
ทั้งนี้ จากการดำเนินการปรับโครงสร้างทุนข้างต้น จะส่งผลให้กระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นภายหลังการปรับโครงสร้างทุนที่ร้อยละ 32.7 และเมื่อรวมสัดส่วนการถือหุ้นของหน่วยงานภาครัฐอื่น จะมีสัดส่วนการถือหุ้นของหน่วยงานภาครัฐรวมมากกว่าร้อยละ 40
3.แก้ไขเพิ่มเติมในรายละเอียดจำนวนหนี้ที่ต้องชำระ กำหนดการชำระ และการดำเนินการเกี่ยวกับอากาศยานที่เช่า สำหรับเจ้าหนี้กลุ่ม Export Credit Agency (ECA) ให้เป็นไปตามสัญญาระงับข้อพิพาท (Settlement Agreement)
4.ประเด็นสำคัญอื่นๆ
- แก้ไขรายละเอียดการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้บางกลุ่ม
- แก้ไขรายละเอียดผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ
- ยกเลิก "คณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่"
- แผนการชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้การค้าที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด ต่อการดำเนินธุรกิจของการบินไทยในต่างประเทศและแก้ไขเนื้อหารายละเอียดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้บัตรโดยสาร
- เพิ่มอำนาจผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการในการเปลี่ยนแปลงและจัดกลุ่มเจ้าหนี้ให้ถูกต้อง