3 หน่วยงานหนุนงานวิจัย พัฒนา 'เศรษฐกิจเชิงพื้นที่'
การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ถือเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 นอกจากจะมีการกำหนดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแต่ละภูมิภาค การพัฒนาเศรษฐกิจระดับพื้นที่ยังมีความสำคัญ ซึ่งต้องใช้การวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแนวทางบูรณาการแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เชิงพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเชิงพื้นที่
โดยมุ่งเน้นนำองค์ความรู้จากวิทยาศาสตร์ ผลงานวิจัย และผลผลิตที่เป็นนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพลิกโฉมประเทศ ในการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัด อีกทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เปิดเผยว่า สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สภาพัฒน์” ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ สกสว. ในฐานภาคียุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงแผนระหว่างแผนพัฒนาภาคกับแผนปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากลไก และเครือข่ายบุคลากรของหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคและใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมผลักดันการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเชิงพื้นที่จำเป็นต้องมีการบูรณาการองค์ความรู้ที่หลากหลาย การแก้โจทย์การพัฒนาที่เชื่อมโยง ซับซ้อนด้วยการวิจัย รวมทั้งมีการใช้ผลผลิตจากนวัตกรรม เช่น การนำผลงานวิจัยด้านนวัตกรรมอาหารและเกษตรแม่นยำไปผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจฐานชีวภาพ
ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต เกิดมูลค่าเพิ่มกับสินค้าเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือการนำองค์ความรู้ และเทคโนโลยีชีวภาพด้านสมุนไพรไปผลักดันให้เป็นโครงการพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่อุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยวให้เติบโตต่อไปในอนาคต
นางปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมกล่าวว่าสกสว.ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ขึ้นเพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานส่งสริมการวิจัย และพัฒนาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้า ผลักดันประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วโดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นกลไกและพลังสำคัญในการพัฒนา
ซึ่ง สกสว. มองว่าการพลิกโฉมประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ถ้าเศรษฐกิจในพื้นที่เติบโต แข็งแรง จะเป็นปัจจัยหนุนเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในที่สุด สกสว.จึงริเริ่มให้มีการศึกษาหาแนวทางในการเชื่อมโยงแผน ววน. กับแผนการพัฒนาพื้นที่ในระดับต่างๆ ทั้งแผนพัฒนาภาคของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดและแผนพัฒนาจังหวัดที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย
ความเชื่อมโยงนี้เป็นการเชื่อมโยงสาระสำคัญในเชิงเป้าหมาย ประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนา และการเชื่อมโยงกลไกการผลักดันและบริหารแผน ตลอดจนการบูรณาการกำลังคน กำลังทรัพยากรที่เกี่ยวข้องให้ตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ให้เข้มแข็ง และพลิกโฉมประเทศไทยไปพร้อมกัน”
สกสว. มีการจัดสรรงบประมาณตามแผน 3 ก้อนใหญ่ ทั้งการพัฒนาสังคมพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชน การพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน พัฒนาคนและองค์ความรู้สู่อนาคต ซึ่งผลการดำเนินการที่ผ่านมาทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เกิดผู้ประกอบการ SMEs 500 ราย ใน 48 จังหวัด วิสาหกิจชุมชน นักวิทยาศาสตร์และวิจัยในอุตสาหกรรมและชุมชน 3,200 ราย โดยเราจะดำเนินการขับเคลื่อนภูมิภาคทั่วไทยตลอดปีนี้ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีแผนกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้กระทรวงมหาดไทยจะประสานพลังกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ในการนำองค์ความรู้ ผลงานวิจัย และผลผลิตที่เป็นนวัตกรรมต่างๆไปสู่การแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่โดยตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น เช่น การจัดทำแผนงานโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนโดยใช้ต้นแบบจากงานวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ประสบความสำเร็จ
ตลอดจนการแก้โจทย์ที่ซับซ้อนของพื้นที่ในระดับจังหวัด มีการศึกษาปัญหา และหนทางแก้ไขของพื้นที่ และนำมาปรับเป็นแผนโครงการที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัด นอกจากนี้จะมีการประสานแผนเชิงภารกิจ และเชิงพื้นที่ในระดับต่างๆให้เชื่อมโยง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงแผนพัฒนาภาคที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.รับผิดชอบ เข้ากับแผนพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัดที่เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ภูมิภาคของประเทศไทยมีความก้าวหน้า และเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน อันจะเป็นฐานในการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศไทย และเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการพัฒนาพื้นที่ให้สู่การพลิกโฉมประเทศไทยต่อไปในอนาคต”