เกษตรกร ถาม “บอร์ดกุ้ง” แก้ราคาตกยังงัยราคาลดฮวบ?

เกษตรกร ถาม “บอร์ดกุ้ง” แก้ราคาตกยังงัยราคาลดฮวบ?

เกษตรกร ทวงถาม “บอร์ดกุ้ง” แก้ราคาตกยังงัยราคาลดฮวบ? ขณะ กรมประมงชี้ ราคายังดีต่อเนื่อง คุมเข้มนำเข้า ติดตาม มั่นใจไม่แพร่กระจายโรคในฟาร์ม

นายปรีชา สุขเกษม เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคากุ้งกำลังอ่อนตัวและตกต่ำอย่างรวดเร็ว หลังคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) หรือ บอร์ดกุ้ง อนุมัตินำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย โดยอ้างมีการประกันราคาช่วยอยู่ หน้าฉากตั้งราคาขั้นต่ำเท่าต้นทุนบนเงื่อนไขคุณสมบัติกุ้งขั้นนางฟ้า คาดเกษตรกรรายกลาง-รายย่อยขาดทุนยับ แนะรัฐหันส่งเสริมผลผลิตกุ้งไทยทดแทนนำเข้า

 

“Shrimp Board ระบุว่าการนำเข้ากุ้งหมื่นตันจากเอกวาดอร์และอินเดียจะไม่กระทบราคาในประเทศ แต่ปัจจุบันกลับตรงกันข้าม เพราะราคากุ้งกำลังอ่อนตัวและตกต่ำอย่างรวดเร็ว ขณะที่ราคาประกันขั้นต่ำที่ห้องเย็นตั้งไว้นั้นเท่ากับราคาต้นทุนการผลิตที่ยังไม่รวมโสหุ้ยอื่นๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการบังคับให้เกษตรกรขายในราคาขาดทุน แบบนี้  Shrimp Board จะรับผิดชอบและหาทางแก้ไขอย่างไร” นายปรีชากล่าวและว่า

เกษตรกร ถาม “บอร์ดกุ้ง” แก้ราคาตกยังงัยราคาลดฮวบ?

 

เกษตรกรรายกลางรายย่อย ไม่ได้มีสายป่านยาวและไม่มีกำลังในการต่อรองกับห้องเย็น จำเป็นต้องขายกุ้งในราคาต่ำ ขณะที่ถูกกลุ่มผลประโยชน์ใช้อ้างเป็นเหตุผลรองรับนโยบายนำเข้ากุ้ง เช่น เกษตรกรไทยผลิตกุ้งไม่เพียงพอบ้าง กุ้งไม่ได้ขนาดที่ต้องการบ้าง  สิ่งเหล่านี้ทำให้ความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยสั่นคลอน ทั้งๆที่เกษตรกรเป็นกลุ่มเป้าหมายและเป็นตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ทางนโยบายที่แท้จริงที่ภาครัฐควรมุ่งแก้ปัญหามากที่สุด

 

นายปรีชาย้ำว่ากุ้งไทยยังเลี้ยงได้ ยังพัฒนาต่อยอดได้อีกมาก ไม่จำเป็นต้องนำกุ้งจากต่างชาติเข้ามา เพราะการนำเข้ากุ้งเป็นการรุกรานอาชีพเกษตรกรไทย  ประเด็นนี้กรมประมงและกระทรวงเกษตรฯ น่าจะรู้ดีว่าการสนับสนุนซื้อกุ้งต่างชาติจะเป็นผลลบกับเกษตรกรไทยเหมือนเราส่งงบประมาณหมื่นล้านไปช่วยพัฒนาการเลี้ยงกุ้งในประเทศเขา เสริมความเข้มแข็งให้คู่แข่ง

“การเปิดประตูให้กุ้งต่างชาติที่มีคุณภาพต่ำกว่า เข้ามาย่ำยีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งบ้านเรา แทนที่จะพยายามส่งเสริมการเลี้ยงในประเทศมันเหมาะสมแล้วหรือครับ ขอเรียกร้องให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรบ้าง โดยเฉพาะการส่งเสริมการเลี้ยง ให้ความรู้ทางวิชาการ เพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดในกุ้ง สนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงกุ้งให้ได้ 4 แสนตันตามเป้าหมาย แทนการหาวิธีการง่ายด้วยๆ ด้วยการนำเข้ากุ้งมาซ้ำเติมเกษตรกรเช่นนี้”

ทั้งนี้ ราคากุ้งขาวแวนาไม เมื่อ 15 สิงหาคม ราคาขนาด 60 ตัว/กิโลกรัมอยู่ที่ 160 บาท ขนาด 70 ตัว/กก.ราคา 150 บาท ขนาด 80 ตัว/กก.ราคา 135 บาท ขนาด 90 ตัว/กก.ราคา 125 บาท และขนาด 100 ตัว /กก.ราคา 120 บาท ส่วนราคากุ้งขาวในวันนี้ ขนาด 60 ตัว/กก.ราคา 140 บาท ขนาด 70 ตัว/กก.ราคา 130 บาท ขนาด 80 ตัว /กก.ราคา 120 บาท ขนาด 90 ตัว/กก.ราคา 115 บาท และราคา 100 ตัว /กก.ราคา 115 บาท ทุกขนาดปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยกิโลกรัมละ 5  -20 บาทแล้ว

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ ชริมพ์บอร์ด (Shrimp Board) กล่าวว่า ข้อกังวลของ นายปรีชา สุขเกษม เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลจังหวัดสงขลา ในประเด็นการนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศของผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคากุ้งทะเลภายในประเทศนั้น 

 

เกษตรกร ถาม “บอร์ดกุ้ง” แก้ราคาตกยังงัยราคาลดฮวบ?

 จากปัญหาโรคกุ้งทะเล คุณภาพลูกพันธุ์กุ้ง และอาหารกุ้งในอดีต ทำให้การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องถดถอย ผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปที่ส่งออกกุ้งทะเลเป็นหลักต้องปิดตัวลงจากเดิมที่มีอยู่เกือบ 200 แห่ง ปัจจุบันเหลือเพียง 20 แห่ง

ขณะที่จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลก็ลดลง ทำให้ปริมาณการผลิตกุ้งของไทยที่เคยสูงสุดในปี 2552 ประมาณ 567,000 ตัน เหลือเพียงประมาณ 255,000 ตัน ในปี 2564 ซึ่งลดลงร้อยละ 55.03 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552

กรมประมงได้ดำเนินการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยและแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ ประกอบกับการจัดทำแผนฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายให้กุ้งทะเลกลับมามีผลผลิตในระดับ 400,000 ตัน ภายในปี 2566

ภายใต้การหารือของชริมพ์บอร์ดเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้และยังคงมีศักยภาพทางการแข่งขันในระดับโลก ซึ่งชริมพ์บอร์ดมีฉันทามติร่วมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่

1. ผู้แทนเกษตรกร ประกอบด้วย สมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย สมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด ชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งภาคกลาง ชมรมผู้ผลิตลูกพันธุ์สัตว์น้ำ และกลุ่มคลัสเตอร์กุ้งกุลาดำไทย

2. ผู้ประกอบการห้องเย็นและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ประกอบด้วย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมการค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย

และ3. หน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย กรมประมง และกรมการค้าภายใน ในการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากต่างประเทศเฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานแปรรูป ซึ่งมาตรการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลนี้เพื่อการแปรรูปและส่งออกเท่านั้น

และกำหนดแผนการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย ปี 2565 ปริมาณรวม 10,501 ตัน จากปริมาณการผลิตกุ้งทะเลของไทยในปี 2565 (มกราคม - กรกฎาคม) 138,732.43 ตัน แลกกับการประกันราคาโดยภาคเอกชนซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา และจะยังคงช่วยเหลือเกษตรกรไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

ซึ่งผู้แทนเกษตรกรในชริมพ์บอร์ดข้างต้นเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว ทำให้ราคากุ้งภายในประเทศได้รับการประกันขั้นต่ำโดยภาคเอกชนเป็นครั้งแรก ซึ่งไม่เป็นภาระของรัฐบาลเหมือนในอดีต ดังที่สมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยได้เคยให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 กล่าวไว้ว่า

“การจัดตั้งชริมพ์บอร์ดในครั้งนี้ เป็นการจับมือของเกษตรกรและผู้แปรรูปเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ของอุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทย เพื่อแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิตอย่างแท้จริง ทั้งด้านการผลิตและการตลาด ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลและผู้แปรรูปสามารถประกอบอาชีพในห่วงโซ่ได้อย่างยั่งยืน”

พร้อมกันนี้ ชริมพ์บอร์ดได้เผยข้อมูลว่า จากการประกาศราคาประกันของชริมพ์บอร์ด และเริ่มดำเนินการรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา ส่งผลให้ราคากุ้งทะเลภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยพบว่า ราคากุ้งขาวแวนนาไม ณ ตลาดทะเลไทย จังหวัดสมุทรสาคร

ระหว่างเดือนตุลาคม 2564 - สิงหาคม 2565 ราคาเฉลี่ยรายเดือนปรับเพิ่มขึ้นทุกขนาด ประมาณ 6.32 - 12.70 บาท/กก. และราคากุ้งขาวแวนนาไมปากบ่อ ระหว่างเดือนตุลาคม 2564 - สิงหาคม 2565 ราคาเฉลี่ยรายเดือนปรับเพิ่มขึ้นทุกขนาดเช่นกัน ประมาณ 11.85 - 20.64 บาท/กก. ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าการนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศไม่กระทบกับราคากุ้งภายในประเทศแต่อย่างใด ภายใต้การประกันราคาจากห้องเย็นและโรงงานแปรรูป

" กรมประมงและชริมพ์บอร์ดเข้าใจดีถึงความกังวลและข้อห่วงใยของเกษตรกรบางรายบางกลุ่ม จึงขอชี้แจงให้เข้าใจถึงการทำงานร่วมกันที่ผ่านมา และเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเราจะต้องกลับไปยืนเป็นเบอร์ต้นของโลกในการส่งออกสินค้ากุ้งทะเลได้ดังเดิม หากแต่ทุกภาคส่วนปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นไปตามเดิม วันหน้าอาจถดถอยไปมากกว่านี้"