'คมนาคม' จ่อเคาะปรับค่าโดยสารรถแท็กซี่ ธ.ค.นี้
คมนาคมคาดเคาะปรับค่าโดยสารรถแท็กซี่ ธ.ค.นี้ สั่ง ขบ.เร่งเปิดรับฟังความเห็นให้รอบด้าน พร้อมกางแผนเปลี่ยนระบบขนส่งสาธารณะเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมใน 3 ปี
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน (แท็กซี่มิเตอร์) โดยระบุว่า จากข้อร้องเรียนของผู้ขับรถแท็กซี่ในช่วงที่ผ่านมา ที่ยื่นเรื่องมายังกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ขอปรับขี้นค่าโดยสาร เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน เบื้องต้นกระทรวงฯ ทราบว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างกาาพิจารณา และได้มีนโยบายให้ ขบ.เปิดรับฟังความคิดเห็นจากเวทีสาธารณะเพื่อให้การพิจารณาเรื่องนี้รอบคอบมากขึ้น
โดยที่ผ่านมา ขบ.มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เช่น สภาคุ้มครองผู้บริโภค นักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งสาธารณะ และองค์การนอกภาครัฐ (NGO) เป็นต้น ซึ่งได้ข้อสรุปว่าทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันให้พิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ เนื่องจากดัชนีผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 7% จาก 5 ปีก่อน หรือตั้งแต่ปี 2560 แต่ส่วนตัวนั้นได้มอบนโยบายให้ ขบ.ศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบก่อน โดยให้ดำเนินการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง ในเดือน ก.ย.และ ต.ค.นี้ ทั้งในรูปแบบเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้ได้ความเห็นที่ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้บริโภค
"การปรับขึ้นค่าโดยสาร หากดัชนี CPI มีการปรับขึ้น ค่าโดยสารก็ต้องเพิ่มขึ้น แต่ถ้าในกรณีดัชนีลดลง ค่าโดยสารก็ต้องปรับตัวลดลงตามไปด้วย และเรื่องนี้ต้องศึกษาถามความเห็นให้รอบด้าน ผมไม่อยากเดินหน้าแล้วมีคนมาบอกว่าทำไมไม่ทำถึงตรงนั้นตรงนี้"
ขณะเดียวกัน หากจะมีการปรับขึ้นค่าโดยสารก็ต้องควบคู่มากับการพัฒนาคุณภาพบริการ เพราะหากรถบริการได้คุณภาพเชื่อว่าราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นประชาชนก็ยอมจ่าย ทั้งนี้ การพิจารณาค่าโดยสารเชื่อว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้ แต่หากท้ายที่สุดไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ส่วนตัวก็คงไม่สามารถอนุญาตให้พิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารได้
นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีระบบขนส่งมวลชนอีกหลายทางเลือกที่จะให้ประชาชนใช้บริการ เช่น เรือ รถไฟฟ้า เป็นต้น อีกทั้งปัจจุบัน ขบ.ได้เริ่มนำรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (อีวี) ให้บริการแล้วจำนวน 153 คัน เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และตั้งเป้าเปิดให้บริการรถเมล์อีวีจำนวน 1,250 คัน ภายในปีนี้ ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) และบริษัท บขส. จำกัด อยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยกระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าหมายว่าการให้บริการรถสาธารณะรูปแบบเดิมที่เป็นมลพิษทางอากาศจะหมดไปภายใน 3 ปี