'คมนาคม' แจงปมโอนสนามบินให้ ทอท.บริหาร
กระทรวงคมนาคมแจงข้อเท็จจริงปมมอบสิทธิ 3 สนามบินภูมิภาคให้ ทอท.เข้าบริหาร ยันผ่านการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่เข้าข่ายฮั้วประมูล และ ทอท.ต้องจ่ายค่าเช่าแก่กรมธนารักษ์
กระทรวงคมนาคมชี้แจงข้อเท็จจริงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 กรณีการมอบความรับผิดชอบท่าอากาศยาน 3 แห่ง ของกรมท่าอากาศยาน ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า กรณีเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ ได้เผยแพร่บทความลงวันที่ 3 กันยายน 2565 เรื่อง “รุมต้าน AOT ฮุบ 3 สนามบินรัฐ ลงทุนหมื่นล้านเอื้อกลุ่มทุน” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับว่าการดำเนินการอาจไม่ถูกต้องตามกฎหมายบางฉบับ และอาจทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการมีภาระเพิ่มมากขึ้น อันเป็นข้อความที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง อันอาจส่งผลให้สาธารณะชนเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง นั้น
กระทรวงคมนาคมขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1. การมอบความรับผิดชอบท่าอากาศยาน 3 แห่ง ของกรมท่าอากาศยาน ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเรื่องสืบเนื่องจากข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อมาพิจารณาในเรื่องดังกล่าว โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ โดยได้พิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบในทุกมิติ รวมทั้งได้ผ่านการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 2 ด้วยแล้ว การดำเนินการจึงเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
2. การมอบความรับผิดชอบท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้ เป็นการปรับโครงสร้างโครงข่ายท่าอากาศยาน และการบริหารจัดการห้วงอากาศทั้งระบบ ตามหลักการของแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินพาณิชย์ของประเทศที่คณะกรรมการการบินพลเรือนได้ให้ความเห็นชอบและประกาศใช้แล้ว โดยท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งจะต้องมีการยกระดับตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ (Airport Strategy Positioning) ซึ่งจำเป็นต้องใช้ศักยภาพของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีโครงข่ายฐานลูกค้าทั่วโลกจึงจะสามารถดำเนินการได้ และประเด็นสำคัญคือ การมอบความรับผิดชอบครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการฮุบทรัพย์สินของรัฐ หรือ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนแต่อย่างใด เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดเป็นที่ราชพัสดุยังคงเป็นของรัฐเช่นเดิม
3. กรณีที่บทความดังกล่าว ตั้งประเด็นว่าเป็นการผิด พ.ร.บ. ฮั้วประมูล (พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542) นั้น ต้องเรียนชี้แจงว่า กรณีนี้ เป็นการมอบความรับผิดชอบภารกิจการบริหารท่าอากาศยานจากกรมท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นส่วนราชการ ไปให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่ใช่เป็นการประมูล และไม่มีการเสนอราคาแต่อย่างใด
4. กรณีที่มีข้อสงสัยว่าเป็นการนำทรัพย์สินของทางราชการไปยกให้เอกชนแต่เพียงผู้เดียว ขอเรียนย้ำข้อเท็จจริงอีกครั้งว่า ไม่มีการยกทรัพย์สินของทางราชการไปยกให้ใครทั้งสิ้น โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ จะต้องจ่ายค่าเช่าให้กรมธนารักษ์ตามอัตราที่กำหนด
5. กรณีที่มีการเสนอความเห็นว่า รัฐลงทุนให้กรมท่าอากาศยานไปเยอะแล้ว บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะมาหยิบชิ้นปลามันไปนั้น ข้อเท็จจริงคือ อสังหาริมทรัพย์ และสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด เป็นที่ดิน และอาคาร ราชพัสดุ ไม่ใช่ทรัพย์สินของกรมท่าอากาศยาน โดยกรมท่าอากาศยานเป็นผู้ก่อสร้าง และให้บริการ โดยกรมธนารักษ์ให้กรมท่าอากาศยานใช้ที่และอาคารราชพัสดุ เมื่อบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นผู้บริหาร กรมธนารักษ์ก็จะคำนวณค่าเช่าบนพื้นฐานของมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด จึงไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์แต่อย่างใด
6. สำหรับข้อห่วงใยว่า เมื่อบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาบริหารแล้ว จะมีอัตรา ค่าโดยสารที่แพงขึ้น และมีการให้บริการพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่แพงขึ้นนั้น กระทรวงคมนาคมเข้าใจถึงความกังวลของพี่น้องประชาชน โดยในส่วนของการให้บริการพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้กำหนดเป็นตัวชี้วัดไว้แล้ว ว่าจะต้องมีค่าบริการที่เหมาะสมเป็นธรรม และจะต้องมีส่วนในการสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นด้วย ส่วนอัตราค่าโดยสารอากาศยานนั้น เมื่อบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาบริหารแล้ว จะมีการใช้โครงข่ายฐานลูกค้าทั่วโลก ทำให้เกิดเส้นทางการบินตรง (Direct flight) ใหม่ๆ ซึ่งเป็นการกระตุ้นตลาดสายการบินภายในประเทศให้เกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ดังนั้น นอกจากอัตราค่าโดยสารจะไม่แพงขึ้นแล้ว
เมื่อตลาดมีการแข่งขันที่สมบูรณ์มากขึ้น จะมีโอกาสสูงที่อัตราค่าโดยสารจะถูกลงด้วย
7. กรณีผู้อำนวยการท่าอากาศยานอุดรธานีมีความกังวลว่าบุคลากรของกรมท่าอากาศยานจะถูกลอยแพนั้น ในข้อเท็จจริงได้มีการหารือในเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น รวมทั้งได้มอบหมายให้กรมท่าอากาศยานทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนแล้ว โดยคณะกรรมการระดับกระทรวงที่ได้แต่งตั้งขึ้นได้กำหนดแนวทางทั้งในกรณีที่บุคลากรของกรมท่าอากาศยาน สมัครใจและไม่สมัครใจจะจะไปปฏิบัติงานกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
8. สำหรับความกังวลว่า เมื่อบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้าไปบริหารท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งแล้ว จะไม่ลงทุนพัฒนาเพิ่มเติมนั้น กระทรวงคมนาคมขอเรียนว่า แผนแม่บทการพัฒนาสนามบินพาณิชย์ของประเทศ ได้กำหนดกรอบของการพัฒนาในลักษณะของขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและอากาศยานเป็นราย 5 ปีไว้ ซึ่งไม่ว่าใครจะเป็นผู้บริหารท่าอากาศยาน จะต้องลงทุนตามกรอบที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ยังกำหนดเป็นตัวชี้วัดไว้ด้วยว่าบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะต้องมีการพัฒนาตามกรอบที่กำหนดไว้ จึงเชื่อมั่นได้ว่าจะมีการลงทุนที่เหมาะสมในทั้ง 3 ท่าอากาศยาน โดยมีข้อดีเพิ่มเติมคือ การลงทุนที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด จะเป็นการลงทุนโดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณของภาครัฐได้อีกทางหนึ่งด้วย
9. นอกจากกฎหมายที่บทความอ้างถึงแล้ว กระทรวงคมนาคมขอเรียนว่ากระทรวงคมนาคมยังได้ตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2494 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2564 เป็นต้น
สุดท้ายนี้ กระทรวงคมนาคมขอยืนยันว่าการมอบความรับผิดชอบให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้าไปบริหารท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง เป็นไปเพื่อยกระดับโครงข่ายท่าอากาศยานของประเทศตามหลักการของแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินพาณิชย์ของประเทศ รวมทั้งเพื่อลดภาระด้านงบประมาณของรัฐบาลในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน โดยได้ดำเนินการถูกต้องและครบถ้วนตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2 ได้พิจารณาความครบถ้วนแล้ว