ไทยถก JTC -มองโกเลีย เปิดการค้าการลงทุน กรุยทางสู่ตลาดกลุ่มประเทศรัสเซีย

ไทยถก JTC -มองโกเลีย  เปิดการค้าการลงทุน กรุยทางสู่ตลาดกลุ่มประเทศรัสเซีย

“จุรินทร์” เผยผลสำเร็จ JTC ไทย-มองโกเลีย นับหนึ่งเปิดตลาดใหม่ไทย เร่งดันบินตรงมองโกเลีย-ภูเก็ตพร้อม ติดปีกนักลงทุนไทยในมองโกเลีย สร้างเครือข่ายการค้า ดันการลงทุนพลังงานสะอาด-สุขภาพ-ก่อสร้าง บุก “อีมาร์ท” ซุปเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ ดันสินค้าไทยขึ้นชั้นวางสินค้า

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-มองโกเลีย ครั้งที่ 1 กับนางบัตต์เซตเสก บัตมุนห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมองโกเลีย( Mrs. Battsetseg Batmunkh, Minister of Foreign Affairs of Mongolia) ที่กระทรวงการต่างประเทศ กรุงอูลานบาตาร์ ประเทศมองโกเลีย ว่า การประชุม JTC ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและมองโกเลีย โดยปีนี้เป็นปีแรกที่มองโกเลียเป็นเจ้าภาพและตนเป็นหัวหน้าคณะเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ สำหรับการประชุมครั้งต่อไป ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ  โดยทั้ง 2 ฝ่าย ตั้งเป้าหมายทางการค้าและการลงทุนร่วมกันในปี 2027 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า ให้ได้ 100 ล้านดอลล่าร์จากปัจจุบันอยู่ที่ 55 ล้านดอลลาร์  และเป้าหมายการลงทุน ตั้งเป้า 1,500 ล้านดอลลาร์จากปัจจุบันอยู่ที่  1,034 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการค้าและการลงทุนตนจึงขอให้รัฐบาลมองโกเลียช่วยประสานผู้นำเข้า นักธุรกิจ นักลงทุนมองโกเลีย เดินทางร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญในประเทศไทย 3 งาน คืองาน STYLE Bangkok วันที่ 22-26 มี.ค. 66 งาน THAIFEX – Anuga Asia วันที่ 23-27 พ.ค. 66 และ งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair จะจัดขึ้นในเดือน ก.ย. 66 และจัดให้มีการพบปะเจรจาระหว่างหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของมองโกเลียกับนักลงทุนจากประเทศไทย

ไทยถก JTC -มองโกเลีย  เปิดการค้าการลงทุน กรุยทางสู่ตลาดกลุ่มประเทศรัสเซีย

 

นายจุรินทร์  กล่าวว่า   ไทยจะเป็นแหล่งผลิตหรือส่งออกอาหารให้กับมองโกเลีย เพื่อความมั่นคงทางอาหาร โดยสินค้าที่ไทยจะส่งออกไปมองโกเลียสำคัญ ประกอบด้วย ไก่แช่เย็น-แช่แข็ง อาหารทะเลแช่เย็น-แช่แข็งและแปรรูป ผลไม้ น้ำผลไม้ ผลไม้สด ผลไม้กระป๋อง อาหารสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยว และมองโกเลียจะเป็นแหล่งส่งออกวัตถุดิบสำคัญให้กับประเทศไทย เช่น สินแร่รวมทั้งหนังสัตว์ และผ้าแคชเมียร์ เป็นต้น นอกจากนี้ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมกันในสาขาที่สนใจร่วมกันต่อไปไม่ว่าจะเป็นการเกษตร อาหาร การท่องเที่ยวรวมถึงโลจิสติกส์

ด้านการส่งเสริมการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว ทั้ง 2 ฝ่ายสองฝ่ายตกลงเดินหน้าทำอนุสัญญายกเว้นการเก็บภาษีซ้อน ช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัดี และมองโกเลียสนใจเปิดเที่ยวบินตรงอูลานบาตอร์เมืองหลวงของมองโกเลียไปภูเก็ต เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวกับนักท่องเที่ยวชาวมองโกเลียในช่วงฤดูหนาว ซึ่งขณะนี้สายการบิน Mongolian Airlines แจ้งความจำนงไปประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์ประสานงานกับสถาบันการบินพลเรือนจะเร่งพิจารณาคำขอนี้ให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์คาดว่า Mongolian Airlines จะพานักท่องเที่ยวบินตรงไปภูเก็ตได้

 “มองโกเลียถือเป็นตลาดใหม่ สำหรับอาหารไทยเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวมองโกเลียอาจต้องใช้เวลา การเดินทางเที่ยวนี้ เป็นการนับหนึ่งไม่ใช่ให้กับปัจจุบันเท่านั้น แต่นับหนึ่งให้กับอนาคตตลาดใหม่ของสินค้าไทย อนาคตโอกาสนี้มีมาก เพียงแต่ตอนนี้ตัวเลขยังมีน้อย ถ้าเราไม่นับหนึ่งวันนี้จะมี 2 3 4 วันหน้าได้อย่างไร"นายจุรินทร์ กล่าว

ไทยถก JTC -มองโกเลีย  เปิดการค้าการลงทุน กรุยทางสู่ตลาดกลุ่มประเทศรัสเซีย

 

นายจุรินทร์ ยังเปิดเผยด้วยว่า  ตนยังได้ร่วมกิจกรรมสร้างเครือข่ายการค้า Business Networkingระหว่างไทยและมองโกเลีย  ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดขึ้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีภาคเอกชนมา 6 บริษัทเป็นบริษัทที่ลงทุนด้านพลังงาน 3 บริษัทและด้านสุขภาพ 1 บริษัท และบริษัทที่สนใจมาเปิดตลาดสินค้าที่นี่อีก   2 บริษัท  โดยผู้ประกอบการไทยมาลงทุนที่มองโกเลีย 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทบ้านปู  บริษัท เสริมสร้าง (Sermsang Power Corporation Plc.)  บริษัท เอ็นเสิร์ฟ( Enserv UB llc.) และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่หอบเงินมาลงทุนประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์

ในอนาคตตนคิดว่าคนไทยสามารถมาขยายการลงทุนที่นี่ได้ โดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาด ซึ่งจำนวนหนึ่งมาลงทุนสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขายให้กับรัฐบาลมองโกเลีย และตนทราบว่าโซล่าเซลล์ถ้าอากาศเย็นและแดดแรงจะเพิ่มผลผลิตไฟฟ้าได้ถึง 30% ถือเป็นโอกาสของนักลงทุนไทย รวมทั้งยังได้จัดกิจกรรมพิเศษให้หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของมองโกเลียพบกับผู้สนใจลงทุนชาวไทย และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไปของเราจะได้พบกับนักลงทุนชาวมองโกเลีย เพื่อดึงนักลงทุนไปลงทุนในไทยด้วย

พร้อมกันนี้ตนยังได้มีโอกาสสำรวจตลาดที่ห้างสรรพสินค้า EMart กรุงอูลานบาตาร์ ประเทศมองโกเลีย กับ Mr. Samadi Batbold ผู้บริหารเครือบริษัท ALTAI holding llc และMs.Javzmaa Lkhagvasuren ผู้บริหารห้างสรรพสินค้า EMart ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีสาขา 3 สาขาและกำลังจะขยายสาขาที่ 4  ซึ่งห้าง EMart มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ของประเทศมองโกเลีย มีสินค้าไทยเข้ามาจำหน่ายประมาณ 350 รายการ มูลค่าการนำเข้าปีละประมาณ 15-20 ล้านบาท ซึ่งหวังว่าจากนี้ไป จะมีการนำเข้าอาหารไทยและสินค้าไทยมาขายได้มากขึ้น โดยมีการเจรจากับผู้ส่งออกของไทยหลายราย และกระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดให้มีการพบปะระหว่างผู้ส่งออกของไทยกับผู้บริหารของห้างและเชิญผู้บริหารห้างร่วมงาน THAIFEX – Anuga Asia ซึ่งประเทศไทยจะจัดในปีหน้าด้วย

สำหรับการเดินทางเยือนมองโกเลียของนายจุรินทร์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดฉากการค้า ถือเป็นโอกาสฉลองครบรอบ 48 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศของไทยกับมองโกเลีย ซึ่งไทยยังสามารถใช้มองโกเลียเป็นประตูการค้าสู่รัสเซียหรือกลุ่มประเทศที่แตกตัวจากรัสเซียได้ ขณะเดียวกันมองโกเลียก็สามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้าสู่อาเซียนได้

ปัจจุบันมูลค่าการค้าไทย-มองโกเลีย ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2560-2564) เฉลี่ยปีละ 55.64 ล้านดอลลาร์ โดยในปี 2564 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 53.94 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 147% จากปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกศักยภาพของไทย ได้แก่ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ สิ่งปรุงรสอาหาร และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากมองโกเลีย ได้แก่ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ