‘วิกฤตเงินปอนด์’ปัญหาใหญ่หลังอังกฤษได้นายกฯใหม่

‘วิกฤตเงินปอนด์’ปัญหาใหญ่หลังอังกฤษได้นายกฯใหม่

‘วิกฤตเงินปอนด์’ปัญหาใหญ่หลังอังกฤษได้นายกฯใหม่ โดย ลิซ ทรัสส์ มีภารกิจสำคัญคือเร่งแก้ปัญหาพลังงาน และปัญหาเศรษฐกิจ ที่ภาวะเงินเฟ้อสูงถึง 10.1% ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงสุดในรอบ 40 ปี

ดอยช์แบงก์ วาณิชธนกิจข้ามชาติของเยอรมนี เตือนว่า การประกาศนโยบายในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่าอังกฤษจะสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจมหภาคขั้นรุนแรงต่าง ๆ ได้หรือไม่ โดยเฉพาะวิกฤตด้านดุลการชำระเงิน หลัง‘ลิซ ทรัสส์’ได้รับเลือกให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ทรัสส์คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม เพื่อสืบทอดตำแหน่งต่อจาก‘บอริส จอห์นสัน’ในวันจันทร์ (5 ก.ย.) โดยมีคะแนนนำ‘ริชิ ซูแนค’ อดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษที่ 81,326 ต่อ 60,399 เสียงจากการลงคะแนนของสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยม และได้ขึ้นเป็นผู้นำพรรครัฐบาลจะทำให้เธอก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยอัตโนมัติ

เงินปอนด์ขยับขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วงบ่ายวันจันทร์(5ก.ย.) โดยเคลื่อนไหวต่ำกว่า 1.15 ดอลลาร์เล็กน้อย แต่“เชรยาส โกปาล” นักกลยุทธ์ด้านปริวรรตเงินตราของดอยซ์แบงก์เตือนว่า ไม่ควรประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเงินปอนด์ต่ำจนเกินไปด้วยยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่แตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์อยู่แล้ว ปอนด์ต้องการเม็ดเงินทุนไหลเข้ามหาศาลซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุน และการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ลดลง แต่สถานการณ์กลับดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม ดอยซ์แบงก์  ระบุ

 “อังกฤษกำลังเผชิญปัญหาจากอัตราเงินเฟ้อที่แตะระดับสูงสุดในกลุ่มประเทศจี10 และแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ขณะเดียวกัน การขยายงบประมาณการคลังขนานใหญ่แบบไร้เป้าหมายทั้งที่ขาดแคลนเงินทุน ควบคู่ไปกับความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) อาจทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อสูงยิ่งขึ้นไปอีก”

ก่อนหน้านี้  ทรัสส์วิพากษ์วิจารณ์บีโออี และแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการบีโออี ขณะเดินสายหาเสียงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวโทษบีโออีที่ปล่อยให้เงินเฟ้อพุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี และมีรายงานระบุว่า เธอกำลังพิจารณาทบทวนอำนาจหน้าที่ของบีโออี

หลังจากทรัสส์ชนะเลือกตั้งภายนพรรคได้ไม่นาน ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน บอกเมื่อวันจันทร์ (5 ก.ย.) ว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษอยู่ฝ่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองของยุโรปเสมอมา และยูเครนตั้งตารอที่จะได้ร่วมงานกับทรัสส์ต่อไป

“ในยูเครน เรารู้จักทรัสส์เป็นอย่างดี เธออยู่ฝ่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองยุโรปเสมอมา ผมเชื่อว่าเมื่อเราร่วมมือกัน เราจะสามารถป้องกันประเทศของเราได้มากกว่าเดิม และเอาชนะความพยายามในการทำลายล้างทั้งหมดของรัสเซียได้” ผู้นำยูเครน กล่าว

ขณะที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่าทรัสส์ ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ จะเดินทางถึงปราสาทบาลมารัลในวันอังคาร(6 ก.ย.) เวลา 12.10 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 18.10 น.ตามเวลาไทย โดยคาดว่าจะใช้เวลาเข้าเฝ้า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นเวลาราว 30 นาที เพื่อรับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษอย่างเป็นทางการ          

ทรัสส์ จะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของอังกฤษในรอบ 6 ปี และเธอจะเป็น นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ รองจาก“มาร์กาเร็ต แทตเชอร์” ซึ่งดำรงตำแหน่ง 4  พ.ค. ปี2522 – 28 พ.ย.ปี 2533 และ“เทเรซา เมย์” ซึ่งดำรงตำแหน่ง 13 ก.ค. ปี2559 – 24 ก.ค. ปี 2562 ไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ในเดือน ม.ค. ปี 2568

ก่อนหน้าที่ทรัสส์จะได้ชัยชนะนี้มา บรรดาสมาชิกระดับอาวุโสของ พรรคอนุรักษ์นิยมรวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 คน คือ บอริส จอห์นสัน, เทเรซา เมย์ และเดวิด คาเมรอน ต่างเรียกร้องบรรดา ส.ส.ของพรรคสนับสนุนทรัสส์ หลังจากบรรยากาศในการประชุมพรรคค่อนข้างอึมครึม และมีส.ส.บางคนบอกว่า “ทรัสส์ไม่มีความพยายามที่จะแสดงไม่ตรีต่ออีกฝ่าย”

ขณะที่ ทรัสส์ มีภารกิจสำคัญคือเร่งแก้ปัญหาพลังงาน และปัญหาเศรษฐกิจ ที่ตอนนี้ประเทศกำลังภาวะเงินเฟ้อสูงถึง 10.1% ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงสุดในรอบ 40 ปี

ทั้งยังมีผลพวงจากสงครามยูเครนที่รัสเซียระงับการส่งก๊าซบางส่วนให้ยุโรป ทำให้ราคาก๊าซและพลังงานพุ่ง ชาวอังกฤษต้องเตรียมรับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูงขึ้นเฉลี่ย 80%

นอกจากนี้ เว็บไซต์เซาท์ ไชนา มอร์นิงโพสต์ รายงานว่า กลุ่มพันธมิตรของทรัสส์ที่ถูกมองว่ามีแนวคิดแข็งกร้าวที่สุดกลุ่มหนึ่งในคณะรัฐมนตรีของจอห์นสัน เคยกล่าวกับเดอะไทม์สว่า ทรัสส์จะจัดให้จีนเป็น “ภัยคุกคาม” ความมั่นคงแห่งชาติเช่นเดียวกับรัสเซีย และจะทบทวนและบูรณาการยุทธศาสตร์กลาโหมและการทูตใหม่

ด้านจีนซึ่งถูกตีตราให้เป็น “คู่แข่งขันอย่างเป็นระบบ” ในเดือน มี.ค.ปี 2564 ไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องนี้มากนัก และมองว่าเป็น “คำพูดที่ไม่รับผิดชอบ”

ขณะที่โจนาธาน ซัลลิแวน ผู้อำนวยการโครงการจีน สถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยนอตติงแฮมมองว่า ในสภาพแวดล้อมธรรมดา นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบสมดุลและเป็นจริงมากขึ้น “แต่ชื่อเสียงของสหราชอาณาจักรในแง่การทูตที่ปฏิบัติได้จริงเสียหายมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา”

"การตีตราคู่ค้าใหญ่เป็นภัยคุกคาม ถือเป็นพัฒนาการไม่ธรรมดา แต่ความจริงดังกล่าวไม่ใช่การพูดเกินจริงถึงความไม่แน่นอนรอบๆ ทรัสส์และโมเมนตัมเชิงลบที่ก่อตัวขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักร-จีน"ซัลลิเวน กล่าว

การเปลี่ยนนายกฯ ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นไม่ถึงหนึ่งปีหลังจาก“จอร์จ ออสบอร์น” ขุนคลังคนก่อนหน้าซูนัค ประกาศ “ยุคทอง” ของการลงทุนและความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ขณะประธานาธิบดีสี จิ้นผิงมาเยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการในปี 2558

นับจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับลอนดอนก็เย็นชาขึ้น ท่ามกลางความกังวลเรื่องการใช้เทคโนโลยีจีนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง และการใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ในฮ่องกง