ท่อก๊าซ 'Nord Stream 1' เงื่อนไขกดดันตะวันตก เลิกคว่ำบาตรรัสเซีย

ท่อก๊าซ 'Nord Stream 1' เงื่อนไขกดดันตะวันตก เลิกคว่ำบาตรรัสเซีย

รัสเซียใช้ไม้ตายบีบชาติตะวันตก ยืนยันไม่เปิดท่อก๊าซ “Nord Stream 1” ให้ยุโรป จนกว่าจะยกเลิกคว่ำบาตรรัสเซีย ส่งผลให้ราคาก๊าซในตลาดยุโรปเพิ่มขึ้นจากเดิม 30% ขณะที่เงินยูโรอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 20 ปี

“ดมิทรี เพสคอฟ” โฆษกรัฐบาลรัสเซียให้สัมภาษณ์เมื่อวันจันทร์ (5 ก.ย.) ว่า รัสเซีย จะระงับการจัดส่งก๊าซผ่านท่อ “นอร์ด สตรีม 1” ให้แก่ยุโรปไปจนกว่าชาติตะวันตกจะยกเลิก มาตรการคว่ำบาตร ที่บังคับใช้กับรัสเซียและบริษัทรัสเซีย

ท่าทีล่าสุดของรัสเซีย เพิ่มความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกเป็นอย่างมาก หลังจากราคาพลังงานในภูมิภาคยุโรปพุ่งสูงขึ้น และ เป็นการตอกย้ำว่า รัสเซียกำลังใช้เครื่องมือด้านพลังงานเป็นกลไกต่อรองและสร้างแรงกดดันให้กับยุโรป

สำนักข่าวอินเตอร์แฟ็กซ์ของทางการรัสเซียเปิดเผยถ้อยแถลงของนายเปสคอฟว่า มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาด้านการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ จนทำให้ต้องปิดท่อส่งก๊าซตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนอร์ดสตรีม 1 เป็นท่อส่งก๊าซหลักที่เชื่อมระหว่างรัสเซียและยุโรปตะวันตก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ารัสเซียจะกลับมาจัดส่งก๊าซให้ยุโรปดังเดิมหรือไม่ หากตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย เพสคอฟตอบว่า “แน่นอน” พร้อมกล่าวว่า มาตรการคว่ำบาตรเหล่านั้นก่อให้เกิดสถานการณ์ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

เพสคอฟ กล่าวว่า การระงับจัดส่งก๊าซในปัจจุบันเกิดจากความบกพร่องของหน่วยปฏิบัติการแห่งสุดท้ายของท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 1 ขณะที่หน่วยปฏิบัติการที่เหลือถูกระงับการดำเนินไปก่อนหน้านี้ เพราะปัญหาเรื่องการซ่อมบำรุง

ก่อนหน้านี้ รัสเซียอ้างว่าปัญหาเรื่องการจัดส่งก๊าซให้ยุโรปเกิดจากความล่าช้าในการส่งคืนใบพัดสูบก๊าซที่มีการซ่อมแซมในแคนาดา โดยการส่งมอบชิ้นส่วนดังกล่าวมีความล่าช้า เพราะมาตรการคว่ำบาตรของนานาประเทศ
 

ด้านหนังสือพิมพ์คอมเมอร์แซนต์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจของรัสเซียรายงานอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า รัสเซียจะไม่กลับมาจัดส่งก๊าซผ่านท่อนอร์ดสตรีม 1 ให้กับยุโรปในอนาคตอันใกล้นี้แน่ๆ

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนเกิดเหตุรัสเซียรุกรานยูเครนในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ก๊าซจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของการนำเข้าก๊าซทั้งหมดของยุโรป

ทั้งนี้ การประกาศระงับการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ “นอร์ดสตรีม 1” ไปยังเยอรมนีอย่างไม่มีกำหนดและการลดระดับการส่งก๊าซผ่านท่ออื่นๆมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาก๊าซในตลาดยุโรปเพิ่มขึ้นจากเดิม 30% เมื่อวันจันทร์ (5 ก.ย.) แตะระดับ 272 ยูโรต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง ทั้งยังทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนตัวต่ำสุดในรอบ 20 ปี มาอยู่ที่ 1 ยูโรต่อ 0.98 ดอลลาร์สหรัฐ

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่พุ่งสูงไม่หยุด จะทำให้อุตสาหกรรมด้านการผลิตของอังกฤษได้รับผลกระทบอย่างหนักในรอบ 50 ปี ในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้ เนื่องจากมาตรการควบคุมเพดานค่าไฟของรัฐ จะมุ่งเน้นการช่วยเหลือภาคครัวเรือนเท่านั้น

ด้าน"โอลาฟ โชลซ์" นายกรัฐมนตรีเยอรมนี พยายามเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาว่า รัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่า ประเทศเยอรมนีจะมีพลังงานใช้เพียงพอและจะไม่เกิดกรณีไฟฟ้าขาดแคลนในช่วงฤดูหนาวตามที่พรรคฝ่ายค้านแสดงความกังวลใจ

อย่างไรก็ตาม “นิโคไล ชูลกินอฟ” รัฐมนตรีพลังงานของรัสเซียเปิดเผยเมื่อวันอังคาร (6 ก.ย.) ว่ารัสเซียมีรายได้ถึง 158,000 ล้านยูโร จากการส่งออกพลังงานในช่วง 6 เดือนหลังเปิดฉากรุกรานยูเครนและในจำนวนนี้กว่าครึ่งเป็นการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป(อียู) สวนทางกับข้อเท็จจริงที่ว่าอียูกำหนดข้อจำกัดนำเข้าพลังงานจากมอสโก

ชูลกินอฟ กล่าวระหว่างร่วมเวทีสัมมนาอีสเทิร์น อีโคโนมิก ฟอรัม ในวลาดิวอสต็อก ว่า ความเคลื่อนไหวใดๆ ที่กำหนดจำกัดเพดานราคา จะนำมาซึ่งปัญหาขาดแคลนในตลาดของบรรดาประเทศที่ริเริ่มเอง และะเพิ่มความผันผวนแก่ราคาพลังงาน

บรรดารัฐมนตรีคลังของสหรัฐ เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และแคนาดา เห็นพ้องร่วมกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสำหรับหาแนวคิดจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซีย เพื่อลดรายได้ของรัฐบาลมอสโก ตอบโต้ที่กองทัพปฏิบัติการรุกรานยูเครน

ที่ผ่านมา สมาชิกกลุ่มจี7 ได้ออกข้อจำกัดหรือระงับการซื้อปิโตรเลียมจากรัสเซีย แต่แผนกำหนดเพดานราคาน้ำมันจะได้ผลหรือไม่ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติยักษ์ใหญ่อย่างอินเดียและจีน ซึ่งเป็นลูกค้ารายสำคัญที่สุดของรัสเซียด้วย