กนอ. สั่งตรวจสอบกรณีร้องเรียน ขน "แร่ยิปซัม" ออกนอกนิคมฯ มาบตาพุด
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สั่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีร้องเรียนการขนผงแร่ยิปซัมออกนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ย้ำให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย หากพบว่าผิดจริงพร้อมดำเนินการลงโทษตามขั้นตอนโดยเร็วที่สุด
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีการร้องเรียนว่า มีการขนผงแร่ยิปซัมออกจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ได้รับรายงานจากสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (สนพ.) ว่า บริษัทดังกล่าวได้นำส่งหนังสือแจ้งขนย้ายสารปรับปรุงคุณภาพดิน (ยิปซัม) ออกจากพื้นที่ของบริษัท ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ให้ทาง สนพ. พิจารณาตามหนังสือเลขที่ NFC 076/2565 ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2565
โดยทาง สนพ.ได้มีการประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว และได้ออกหนังสือเลขที่ อก. 5106.5/0698 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ให้บริษัทปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ตามหนังสือให้ครบถ้วน เพื่อพิจารณาอนุญาตให้บริษัทฯ นำสารปรับปรุงคุณภาพดิน (ยิปซัม) ออกนอกพื้นที่
จากนั้นในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 เทศบาลเมืองมาบตาพุด ได้ออกหนังสืออนุญาตให้ขนย้ายของเสียจากการก่อสร้าง การรื้อถอนทำลายสิ่งก่อสร้าง และวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ที่ไม่เป็นของเสียอันตรายออกนอกพื้นที่โรงงาน ตามหนังสือ เลขที่ รย. 52204/4345 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2565
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการร้องเรียนผ่านสื่อออนไลน์ เกี่ยวกับผลกระทบในการขนแร่ยิปซัม ออกจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้น ทางสนพ. จึงได้เรียกบริษัท บริษัทฯ ดังกล่าวมาประชุมติดตามความคืบหน้าถึงกรณีข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกันนายฉกาจ พัฒนศรี ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และเจ้าหน้าที่จากเทศบาลเมืองมาบตาพุด ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณกองยิปซัม ภายในบริษัทและพื้นที่ร้องเรียน พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างยิปซัมไปตรวจสอบโดยห้องปฏิบัติการ รวมถึงให้บริษัทฯ หยุดการขนยิปซัมก่อนที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะลงพื้นที่ตรวจสอบอีกด้วย
"ผมได้สั่งให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และหากพบว่ามีความผิดจริง ก็พร้อมดำเนินการลงโทษตามขั้นตอนต่อไป เพราะ กนอ.เป็นองค์กรหลักที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม และกำกับดูแลการบริหารจัดการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมให้เติบโตควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคม และชุมชนโดยรอบ" นายวีริศ กล่าว