จีซี-กนอ.นำร่อง“มาบตาพุด” จัดการขยะพลาสติกในนิคมฯ
“การจัดการขยะอุตสากรรมในนิคมฯ จะยกระดับเศรษฐกิจหมุนเวียนและการบริหารจัดการนิคมฯ เชิงนิเวศ” วีริศ อัมระปาล
รายงานการจัดการขยะพลาสติกของกรมมลพิษพบว่า ประเทศไทยมีความต้องการบริโภคพลาสติกราว 5.2 ล้านตันในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การก่อสร้าง ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ในครัวเรือน
โดยการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์มีสัดส่วนที่มากที่สุด อีกทั้งส่วนใหญ่ยังเป็นการสร้างขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวปริมาณกว่า 2 ล้านตันต่อปี โดยมีสัดส่วนการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่แค่ 0.5 ล้านตัน หรือ 25% เท่านั้น
สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี ร่วมลงนามเอ็มโอยูด้านการจัดการขยะพลาสติกและกากอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม ผ่านโครงการ “Youเทิร์น” นำร่อง 200 โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ปลูกฝังพฤติกรรมคัดแยกขยะสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม สอดคล้องเป้าหมายโมเดลบีซีจีและเน็ตซีโร่
ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GC ในฐานะผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ในระดับสากล มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจควบคู่กับการสร้างสมดุลระหว่างสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมร่วมแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้และยึดเป็นแนวทางสำคัญในการดำเนินธุรกิจ โดยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ภายในปี พ.ศ. 2573 และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี พ.ศ. 2593
ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการสร้าง แพลตฟอร์ม YOUเทิร์น สำหรับการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างครบวงจร ตั้งแต่การคัดแยก การจัดเก็บ การขนส่ง ไปจนถึงการนำพลาสติกใช้แล้วไปรีไซเคิลโดยส่งเข้าโรงงาน ENVICCO โรงงานรีไซเคิลพลาสติกมาตรฐานโลกของ GC ทำให้สามารถผลิตเป็นพลาสติกเกรดอาหารได้อีกครั้ง โดยจุดรับขยะในโครงการจะมีระบบดิจิทัลในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ต้นทุน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับพลาสติกที่รับมาได้เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคที่ใช้สินค้าจากพลาสติกรีไซเคิลว่าไม่ได้มาจากพลาสติกอันตรายหรือปนเปื้อน
สำหรับความร่วมมือกับ กนอ.ครั้งนี้ จะนำไปใช้ในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยนำร่องใน “นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด” จ.ระยอง เป็นที่แรก ร่วมมือ 200 โรงงานในพื้นที่ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และต้นทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากขยะพลาสติก รวมถึงการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอีกด้วย โดยมีแผนจะขยายความร่วมมือกับนิคมฯ อีก 40 แห่งภายในปีนี้
วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า การจัดการขยะและกากอุตสากรรมในนิคมฯ เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดย กนอ.และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะส่งให้บริษัทรับกำจัดกากอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมหมุนเวียนและนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาแบบองค์รวมตามแนวทาง BCG
รวมทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อปรับตัวรับกับมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์รวมถึงการจัดการพลังงานและของเสียในภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการร่วมกันศึกษาและพัฒนาแนวทางการจัดการด้านขยะพลาสติกตามแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมและผลักดันให้เกิดโครงการนำร่องการจัดการด้านขยะพลาสติกในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม สร้างพฤติกรรมการคัดแยกขยะพลาสติกที่ถูกวิธี และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากขยะพลาสติกที่ได้จากโครงการ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและในเชิงธุรกิจ
“อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมมีแนวโน้มลงทุนในธุรกิจ BCG เพิ่มขึ้น รวมทั้งขยายกิจกรรมจากภายในนิคมอุตสาหกรรมไปสู่ชุมชนโดยรอบ และมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะพลาสติก อาทิ การนำขยะพลาสติกในบ่อฝังกลบกลั่นเป็นน้ำมัน”
สำหรับพื้นที่ จ.ระยอง ถือเป็นพื้นที่ที่มีความร่วมมือในการจัดการขยะพลายติก โดยที่ผ่านมามีการร่วมลงนามข้อตกลงบันทึกความร่วมมือครั้งนี้เพื่อขยายโมเดลการจัดการขยะและพลาสติกใช้แล้วในระดับชุมชนและให้ความรู้ในโรงเรียน ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ครอบคลุมครบทั้ง 68 เทศบาล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าและพัฒนาคุณภาพของพลาสติกใช้แล้วให้นำไปใช้เป็นประโยชน์ได้หลากหลายขึ้น
รวมถึงสนับสนุนโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกของภาครัฐที่กำหนดเป้าหมายการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์100% คาดว่าจะสามารถเพิ่มปริมาณพลาสติกใช้แล้วและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่า 1,000 ตันต่อปี
สำหรับโครงการ “Rayong Less-Waste” ได้รับทุนสนับสนุนจาก Alliance To End Plastic Waste ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับโลกที่เกิดจากความร่วมมือของบริษัทในห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลาสติกเพื่อร่วมแก้ปัญหาขยะพลาสติก และต่อยอดจากโครงการระยองโมเดล ซึ่ง PPP Plastics และจังหวัดระยองได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 18 แห่ง เพื่อ สร้างโมเดลการจัดการขยะและพลาสติกใช้แล้วในระดับชุมชน
รวมทั้งโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน จะร่วมกำลังกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก 2561-2573 และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องโดยจะลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลดลงไม่ต่ำกว่า 50% ภายในปี 2570