บีโอไอเร่งยุทธศาสตร์ 7 ปี ต่ออายุมาตรการลงทุน“อีอีซี”
มาตรการส่งเสริมการลงทุนจะมีการปรับเปลี่ยนอีกครั้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก โดยอยู่ระหว่างเร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ปี 2566-2572 เพื่อให้สอดคล้องรับกติกาโลกใหม่ สร้างแรงจูงใจดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สอดคล้องแผนพัฒนาประเทศ
รวมทั้งจะมีการเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ขยายอายุมาตรการทั้งหมดที่กำลังจะสิ้นสุดในเดือน ธ.ค.2565 ออกไปอีก 6 เดือน ในระหว่างรอมาตรการใหม่
ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า ท่ามกลางเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลงจากปัจจัยของการเติบโตของเศรษฐกิจยุคดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤติความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการกำหนดกติกาใหม่ในด้านการค้าการลงทุน ส่งผลให้ทิศทางมาตรการส่งเสริมการลงทุนต้องมีการยกร่างฉบับใหม่
ขณะนี้บีโอไออยู่ระหว่างเร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ พ.ศ.2566-2572 เพื่อดึงดูดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ภาคการลงทุนให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน รวมทั้งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนและศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้นโยบายใหม่คาดว่าจะล่าช้าออกจากกำหนดเดิม คือเดือนม.ค.2566 เนื่องจากการปรับปรุงนโยบายใหม่มีหลายเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน อาทิ ข้อตกลงการจัดเก็บภาษีขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ที่ได้ประกาศบรรลุข้อตกลงเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax Rate) จากบริษัทข้ามชาติทั่วโลกในอัตรา 15% สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ หากบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้าข่ายเสียภาษีไม่ถึง 15% ก็ต้องจ่ายส่วนต่างในประเทศต้นทางด้วย ซึ่งบีโอไออาจต้องใช้มาตรการอื่นทดแทนเพื่อทำให้ไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุน
“ดังนั้น มาตรการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดที่จะสิ้นสุดลงในสิ้นเดือน ธ.ค.2565 จะมีการเสนอบอร์ดบีโอไอให้ขยายอายุมาตรการออกไปอีกราว 6 เดือน โดยเฉพาะมาตรการสำคัญ อาทิมาตรการกระตุ้นการลงทุน 2565 มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ”
ในช่วงที่ผ่านมามาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพที่มีคำขอเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ได้แก่ การใช้พลังงานทดแทน ลดการใช้พลังงาน ปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับปรุงระบบออโตเมชันปรับปรุงโรงงาน 4.0
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ใหม่จะมีการพิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล อาทิ
1.การเพิ่มกิจการกลุ่มเหมืองแร่ ตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2565 เรื่องนโยบายด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สั่งให้บีโอไอร่วมกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกันพิจารณาปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อเร่งฟื้นฟูและยกระดับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทันสมัยในประเทศ
สำหรับแนวคิดการส่งเสริมลงทุนกิจการเหมืองแร่ ครอบคลุมแร่ทุกชนิดที่มีในประเทศ ตั้งแต่กิจการสำรวจแหล่งแร่จนถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพเหมืองแร่ที่มีอยู่เดิม เช่นเดียวกับกิจการอื่นๆ ที่ขอรับส่งเสริมมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยบีโอไอจะปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมทุกประเภทกิจการให้ได้มากที่สุด
2.การปรับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์กิจการกลุ่ม Bio-Circular-Green Economy หรือ เศรษฐกิจBCG ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยและอุดช่องว่างการส่งเสริมการลงทุนธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่อุปทาน
"สำหรับคาดการณ์คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนตลอดทั้งปี 2565 อยู่ที่ 500,000 ล้านบาทโดยมีโครงการใหญ่สนใจเข้ามาลงทุน ในการประชุมล่าสุด บริษัท บีวายดี ผู้ผลิตรถยนต์แบตเตอรีไฟฟ้า (BEV) ยื่นคำขอรับการส่งเสริมมูลค่า 30,000 ล้านบาท โดยสถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนช่วง 6 เดือนแรกปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) มูลค่ารวม 219,710 ล้านบาท ทั้งนี้ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงของความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์และภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจโลก”
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่การลงทุนต่าชาติจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ บุคลากรทักษะสูงและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งบีโอไอได้มีการลงนามความร่วมมือกับ กระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม 20,000 คนต่อปี และร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อ Reskill และ Upskill แรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาด อีกทั้งยังมีมาตรการดึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย ด้วยมาตรการวีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาว (Long-term residentvisa) หรือ LTR Visa
สำหรับสถิติคำขอ LTR Visa ในวันแรกที่เปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2565 อยู่ที่ 100 คำขอ โดยมีกลุ่มหลักเป็นกลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 1 ใน 4 ของคำขอทั้งหมด เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย
“โดยบีโอไอคาดว่าวีซ่าประเภทใหม่นี้ จะดึงดูดผู้พำนักชาวต่างชาติกลุ่มใหม่ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี รวมถึงผู้มีทักษะและความเชี่ยวชาญเข้าทำงานและช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งกระตุ้นการใช้จ่าย การลงทุน และช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ”