BTS ชี้รัฐเสียผลประโยชน์ เปิดข้อมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มเทียบผู้ชนะ
“บีทีเอส” เปิดข้อมูลผลตอบแทนประมูลสีส้มรอบแรก เทียบผู้ชนะใหม่ ชี้รัฐเสียประโยชน์ผลตอบแทน สูญเวลาจากการล้มประมูลครั้งแรก 2 ปี เร่ง รฟม.เปิดข้อมูล “บีอีเอ็ม” ผู้ชนะรอบ 2
การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งใหม่ยังคงเดินหน้าต่อ โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศผลการเปิดซอง 3 (ข้อเสนอการเงิน) เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565
ผลการเปิดซองพบว่าเงินตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะให้ รฟม.หักด้วยจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะขอรับจาก รฟม. โดยข้อเสนอของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEM เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท และ ITD Group เท่ากับ -102,635.66 ล้านบาท ทำให้ BEM เป็นผู้เสนอเงื่อนไขทางการเงินดีที่สุด
วานนี้ (12 ก.ย.) 2565 ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS เดินทางไปการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อรับซองประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งที่1 คืน ตามที่ได้ส่งหนังสือแจ้งต่อ รฟม.เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2565 ระบุเวลา 13.00-15.00 น. เพื่อขอรับเอกสารด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม เวลาเดียวกัน รฟม.ส่งซองประมูลเฉพาะซองที่ 3 จำนวน 4 กล่อง คืนให้ BTS ที่สำนักงานใหญ่ พร้อมแนบหนังสือลงวันที่ 8 ก.ย.2565 แจ้งส่งเอกสารข้อเสนอซองที่ 3 ตามที่บีทีเอสได้ประสานเจ้าหน้าที่ รฟม.เพื่อขอรับคืน
จากนั้น เวลา 15.00 น. นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารและทีมกฎหมาย ได้เปิดซองประมูลซอง 3 ให้สื่อมวลชนได้ได้ทราบถึงราคาที่บริษัทเสนอในการประมูลครั้งที่ 1 เมื่อปี 2563 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
มูลค่าขอรับเงินสนับสนุนค่างานโยธาช่วงตะวันตก (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ 79,280 ล้านบาท และการจ่ายเงินตอบแทนให้แก่ รฟม. (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ 70,144 ล้านบาท โดยเสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -9,676 ล้านบาท ในขณะที่ผู้ชนะการประมูลครั้งที่ 2 ที่เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -78,287.95 ล้านบาท
เร่ง รฟม.เปิดข้อมูลผู้ชนะ
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องการขอซองเสนอราคาประมูลครั้งที่ 1 คืน เนื่องจากได้รับทราบรายงานข่าวจาก รฟม.ที่มีการเปิดเผยตัวเลขข้อเสนอซองที่ 3 ของการประมูลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 จึงต้องการเปรียบเทียบตัวเลขที่บริษัทได้ยื่นเสนอราคาไปในการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งเชื่อว่ามีมูลค่าน้อยกว่าผู้ชนะการประมูล
“เรายังไม่ทราบรายละเอียดตารางข้อเสนอของผู้ชนะประมูลจึงอยากให้ รฟม.นำเสนอข้อมูลทั้งหมด เพื่อบริษัทจะได้ชี้แจงรายละเอียดให้ได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีอัตราการคิดที่ต่างกันบ้างแต่ก็ต่างกันหลายหมื่นล้านบาท”
ทั้งนี้ หากไม่มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ รวมถึงยกเลิกการประมูล รัฐบาลจะได้โครงการนี้ตามราคาที่บีทีเอสได้เสนอไป ที่ขอเงินสนับสนุนจากภาครัฐราว 9,000 ล้านบาท รวมทั้งโครงการจะไม่ล่าช้ามาถึง 2 ปี
“การเปิดซองประมูลในวันนี้บริษัทได้เชิญสื่อมวลชนเป็นสักขีพยาน ยืนยันตัวเลขตามเอกสารที่บริษัทยื่นประมูลจริง โดยหลังจากนี้จะทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วิเคราะห์ ซึ่งในความเห็นของเราการประมูลครั้งนี้ควรถูกยกเลิก เพราะมีการยกเลิกประมูล และการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ที่เชื่ออาจกีดกันการประมูล”
นอกจากนี้ ในการประมูลครั้งที่ 2 บีทีเอส และพันธมิตรไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่เพียงพอ เพราะมีการกำหนดคุณสมบัติผู้ก่อสร้างงานโยธา ที่จะต้องมีผลงาน 3 ประเภท คือ งานอุโมงค์ งานระบบราง และงานสถานี โดยจะต้องมีผลงานกับรัฐบาลไทยเท่านั้นซึ่งมีเพียงไม่กี่บริษัทที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้
รฟม.เดินหน้าประมูล
สำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี รอบแรกมีผู้ยื่นซอง 2 ราย คือ BEM และ BTS ส่วนการประมูลรอบที่ 2 มีผู้ยื่นซองประมูล 2 ราย ได้แก่ BEM และ ITD Group
ส่วนขั้นตอนการประมูลหลังจากนี้ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของข้อเสนอดังกล่าวและดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
นอกจากนี้ รฟม.ได้ออกมาชี้แจงประเด็นคุณสมบัติของผู้ยื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 9 ก.ย.2565 โดยกรณีที่พิจารณาให้ ITD Group ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ทั้งที่ กรรมการ 1 คน ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ ITD Group เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ซึ่งเป็นการขัดต่อประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
ประเด็นดังกล่าวพิจารณาแล้วเห็นว่า ประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ได้กำหนดลักษณะเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน โดยเอกชนที่มีลักษณะดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาในโครงการร่วมลงทุน
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินการคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีข้อสรุปว่า เมื่อได้ผู้ผ่านการคัดเลือกแล้ว พบว่ามีข้อสงสัยในประเด็นตามประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ ดังกล่าวจะได้สอบถามไปยังคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ก่อนการประกาศรายชื่อผู้ชนะการคัดเลือกต่อไป โดยต่อไป รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะตรวจสอบความถูกต้องของข้อเสนอดังกล่าวและดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุในเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
“บีทีเอส” ลุ้นพิจารณา 3 คดี
รายงานข่าวระบุว่า สำหรับคดีที่เกี่ยวข้องกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ BTS ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.ต่อศาล 3 คดี ประกอบด้วย
1.คดีที่ BTS ฟ้องกรณีปรับหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยคดีนี้ศาลปกครองกลางยกคำร้องขอให้ชดเชยความเสียหาย 500,000 บาท แต่ในคำพิพากษาได้ระบุถึงการยกเลิกการประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลปกครองสูงสุดนัดแถลงปิดคดีในวันที่ 15 ก.ย.2565
2.คดีที่ BTS ฟ้องกรณียกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่ง รฟม.ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
3.คดีที่ BTS ฟ้องกรณีเอกสารการประมูลครั้งล่าสุดไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกีดกันโดยขอให้ศาลเพิกถอนหรือยกเลิกประกาศเชิญชวนครั้งที่ 2 ฉบับเดือน พ.ค.2565 และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยได้ขอคุ้มครองชั่วคราวการประมูลด้วยแต่ศาลยกคำร้อง และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการไต่สวน
4.คดีในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คือ คดีฟ้องร้องกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. เรื่องเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูล และการยกเลิกการประมูลมิชอบด้วยกฏหมาย ซึ่งศาลจะนัดพิจารณาชี้มูลความผิดในวันที่ 27 ก.ย.นี้