‘สุพัฒนพงษ์’ ชูแก้วิกฤตพลังงาน พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เปิดสัมปทานเพิ่ม

‘สุพัฒนพงษ์’ ชูแก้วิกฤตพลังงาน พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เปิดสัมปทานเพิ่ม

"สุพัฒนพงษ์"กางแผนแก้วิกฤตพลังงานระยะยาวเดินหน้าเจรจาความร่วมมือพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หลังกระทรวงการต่างประเทศตั้งคณะทำงานร่วมกับกัมพูชา มีการหารือร่วมกันแล้วหนึ่งครั้งซึ่งได้ผลตอบรับดี เล็งเปิดพื้นที่สัมปทานเพิ่ม ลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าในระยะยะต่อไปประเทศไทยต้องมองเรื่องการพึ่งพาแหล่งพลังงานในประเทศ และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาและนำเข้าพลังงานจากแหล่งพลังงานที่มีราคาสูง

โดยมีทั้งการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาในการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา หรือ (Overlapping Claims Area : OCA) เพื่อนำก๊าซธรรมชาติมาใช้รองรับวิกฤตด้านพลังงานของประเทศ 

 

โดยในการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชานั้น รัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยกระทรวงการต่างประเทศ จะรับเป็นผู้นำในการพิจารณา และเจรจาเรื่องดังกล่าว 

ในขั้นตอนต่อจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้นำเรื่องนี้ แต่ในวิธีการดำเนินการ ในช่วงที่ผ่านมาได้แจ้งไปว่า ตอนนี้ยังต้องดูรายละเอียดอื่น ๆ เช่น ยังมีเรื่องของแนวเขตที่กระทรวงการต่างประเทศยังเป็นกังวลอยู่ และต้องหาทางออก และอธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นด้วย ขณะที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจถ้าร่วมมือก่อนได้ก็จะดี

"ทั้งนี้ในการแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกัมพูชา ซึ่งถ้าคุยเริ่มกันตั้งแต่วันนี้ และเสร็จเร็ว ก็เชื่อว่าอีก 10 ปีก็คงได้ใช้ เพราะตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานก็มีหมดแล้ว และน่าจะเป็นประโยชน์ของทั้งไทยและกัมพูชาช่วงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี

เบื้องต้นได้รับทราบการรายงานว่าการพูดคุยในเรื่องดังกล่าวนั้น มีความคืบหน้าตามลำดับ และการหารือก็เป็นไปได้ด้วยดี"

 

 

 

 ตามแผนของรัฐบาลได้กำหนดแนวทางเอาไว้ 2 ด้าน คือ 1. การส่งเสริมพลังงานสะอาดมากขึ้น ด้วยการพึ่งพาตัวเอง ซึ่งก็จะสนับสนุนในเรื่องของโซลาร์เซลล์ของประชาชน 

และ 2. การแสวงหาแหล่งก๊าซธรรมชาติ หรือแหล่งพลังงานที่มีในประเทศ เช่นการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่  ทั้งนี้ต้องดูเรื่องการเปิดสัมปทานพลังงานเพิ่มขึ้นโดยในรอบที่ 21 ในรอบใหม่ต้องเปิดพื้นที่ที่มีศักยภาพมากขึ้น