เปิดข้อมูล ‘พื้นที่ทับซ้อนไทย – กัมพูชา’ ความหวัง ‘แหล่งพลังงาน’ ในอนาคต

เปิดข้อมูล ‘พื้นที่ทับซ้อนไทย – กัมพูชา’  ความหวัง ‘แหล่งพลังงาน’ ในอนาคต

ไทยเร่งเจรจากัมพูชาสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อน "สุพัฒนพงษ์" กต.ตั้งทีมเจรจาแล้ว หวังสามารถผลิตปิโตรเลียมได้ภายใน 10 ปี แก้ปัญหาพึ่งพาแหล่งพลังงานจากพื้นที่ห่างไกล เปิดข้อมูลพื้นที่ทับซ้อนกว่า 2.6 หมื่น ตรกม.มีศักยภาพทางปิโตรเลียม

  ในภาวะที่ราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครน การนำเข้าพลังงานจากแหล่งผลิตที่อยู่ห่างไกลเป็นต้นทุนที่สูง ส่งผลกระทบต่อทั้งค่าครองชีพของคนไทย ภาคอุตสาหกรรมต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการผลิตไฟฟ้าที่การนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาผลิตไฟฟ้าก็มีต้นทุนที่สูงมาก ขณะที่ปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทยลดลง

เหตุผลเหล่านี้ทำให้ภาครัฐต้องเริ่มมองหาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในระยะยาว เรื่องหนึ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการคือการเจรจากับประเทศกัมพูชาเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองประเทศเพื่อให้สามารถมีการสำรวจพลังงาน และวางแผนในการนำเอาพลังงานในพื้นที่ดังกล่าวขึ้นมาใช้

ที่ผ่านมาไทยและกัมพูชาเคยหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือกันบ้างในการฃประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย – กัมพูชา ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยล่าสุดในการประชุม JC ไทย-กัมพูชาครั้งที่ 11 ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะมีการหารือเรื่องของความร่วมมือทางด้านพลังงานระหว่างสองประเทศควบคู่ไปกับการเจรจาเรื่องเขตแดน

นอกจากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนทางการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) โดยฝ่ายไทยมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ล่าสุด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ารัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยกระทรวงการต่างประเทศ จะรับเป็นผู้นำในการพิจารณา และเจรจาเรื่องดังกล่าว  

โดยกระทรวงการต่างประเทศไทยได้มีการประชุมร่วมกับประเทศกัมพูชาแล้วหนึ่งครั้ง ทราบว่าได้รับการตอบรับและมีความคืบหน้าที่ดี ในขั้นตอนต่อจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังต้องดูรายละเอียดอื่น ๆ เช่น ยังมีเรื่องของแนวเขตที่กระทรวงการต่างประเทศยังเป็นกังวลอยู่ และต้องหาทางออก

ถ้าคุยเริ่มกันตั้งแต่วันนี้ และเสร็จเร็ว ก็เชื่อว่าอีก 10 ปีก็คงได้ใช้ เพราะตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานก็มีหมดแล้ว และน่าจะเป็นประโยชน์ของทั้งไทยและกัมพูชาช่วงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี 

นอกจากนี้ในส่วนของกระทรวงพลังงานของไทย  กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ร่วมกันทำงานกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศเพื่อเดินหน้าการเจรจาในเรื่องนี้

 สำหรับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมี 26,000 ตารางกิโลเมตร แบ่งการเจรจาเป็น 2 ส่วน คือ

1.พื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ต้องหาข้อสรุปเขตแดนทางทะเล 10,000 ตารางกิโลเมตร ให้ชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ

2.พื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีเป้าหมายทำความตกลงพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน (JDA) ในลักษณะที่คล้ายกับทที่ไทยทำ JDA ร่วมกับมาเลเซีย

ทั้งนี้ในอดีตเคยมีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล โดยการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับมาเลเซียสรุปเป็น JDA ในปี 2522 ใช้เวลาเจรจา 11 ปี ส่วนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับเวียดนามใช้วิธีแบ่งเส้นเขตแดนเมื่อปี 2540 ใช้เวลาเจรจา 7-8 ปี ซึ่งที่ผ่านมาเวียดนามให้น้ำหนักกับพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้มากกว่า

 

โดยพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพปิโตรเลียม โดยพื้นที่ฝั่งไทยที่ติดกับพื้นที่ทับซ้อนมีการพบปิโตรเลียมแล้ว เช่น แหล่งเอราวัณ แหล่งอาทิตย์ จึงมีแนวโน้มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งรัฐบาลไทยให้สัมปทานไปเมื่อปี 2511 และให้หยุดสำรวจตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2518 ที่ให้ยุติการสำรวจในพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ทำให้การให้สิทธิสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาหยุดลงด้วย

ทั้งนี้ สิทธิสัมปทานยังคงเป็นของผู้รับสัมปทาน โดยรัฐบาลไม่ได้ประกาศยกเลิกเพื่อเป็นการยืนยันว่าไทยยังอ้างสิทธิอย่างสมบูรณ์ในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดูแลสัมปทานในขณะนั้นได้หยุดนับเวลาอายุสัมปทานจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ผู้รับสัมปทานพื้นที่ทับซ้อนจากรัฐบาลไทยเมื่อปี 2511 แบ่งเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย

1.แปลง B5 และ B6 คือ Idemitsu Oil เป็นผู้ดำเนินงานหลัก (Operator) ถือสัดส่วน 50% และพันธมิตรมี Chevron E&P สัดส่วน 20% ,Chevron Blocks 5 and 6 สัดส่วน 10% ,Mitsui Oil Exploration Co.Ltd. สัดส่วน 20%

2.แปลง B7,B8 และ B9 คือ British Gas Asia เป็นผู้ดำเนินงานหลักถือสัดส่วน 50% และพันธมิตร คือ Chevron Overseas สัดส่วน 33.33% และ Petroleum Resources สัดส่วน 16.67%

3.แปลง B10 และ B11 คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 60% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 40%

4.แปลง B12 และ B13 (บางส่วน) คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 80% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 20%

และ 5.แปลง G9/43 และ B14 ผู้รับสิทธิ คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.