องคมนตรี ตามงานก่อสร้างอาคารศูนย์ฝนหลวง พร้อมตรวจน้ำในเขื่อนภูมิพล
องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ. ตากพร้อมตรวจสถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพล ขณะปี 65 บินปฏิบัติการฝนหลวง 1,702 เที่ยวบิน ฝนตก 97.5% ปริมาณน้ำทั้งสิ้นรวม 142.9 ล้าน ลบ.ม.
พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตาก ณ ตำบลน้ำรึม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก พร้อมรับฟังสรุปผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2565 โดยมีนายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเป็นผู้รายงานฯ
ซึ่งอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตากสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติ ใน 7 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง และ ลำพูน
การทำฝนเพื่อเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนแม่กวงอุดมธารา และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง
โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขอใช้พื้นที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์จัดสร้างศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตาก มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2565
นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้การก่อสร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตาก มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 96% เหลือเพียงงานระบายน้ำบ่อพัก งานถนนคอนกรีตงานอาคารสำนักงานที่อยู่ระหว่างงานปรับภูมิทัศน์งานไฟฟ้าส่องสว่าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตาก จะเป็นศูนย์ปฏิบัติการฯ ทดแทนศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่
เนื่องจากท่าอากาศยานตาก ตั้งอยู่ในพื้นทีที่ไม่ขัดขวางเส้นทางการบินพาณิชย์ สามารถรองรับภารกิจของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความพร้อมในด้านอาคารสถานที่และโครงสร้างพื้นที่ ความยาวทางวิ่งของสนามบินมีระยะทางที่เหมาะสมในการ ขึ้น-ลง ของเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร
และในอนาคตพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถสร้างโรงเก็บและซ่อมบำรุงอากาศยานเพื่อรองรับเครื่องบินของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรที่มีในปัจจุบันและในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับเป็นศูนย์การบินดัดแปรสภาพอากาศระดับสากลในอนาคตต่อไป
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2565 นับตั้งแต่เริ่มเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงทั้งสิ้น 145 วัน จำนวนเที่ยวบินรวม 1,702 เที่ยวบิน พบว่ามีฝนตกจากการปฏิบัติการ คิดเป็นร้อยละ 97.5
พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 174.3 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวม 58 แห่ง ปริมาณน้ำทั้งสิ้นรวม 142.9 ล้าน ลบ.ม. จึงเห็นได้ว่าจากการปฏิบัติการฝนหลวงดังกล่าว สามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้แก่พี่น้องประชาชนในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
ดังนั้น จึงได้ทำการปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้งหมดเร็วขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงซึ่งต้องอาศัยปัจจัยความชื้นสัมพัทธ์เป็นสิ่งสำคัญและให้การปฏิบัติการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะยังคงหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วไว้ จำนวน 2 ชุด ณ สนามบินนครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2565
โดยใช้เครื่องบิน Casa จำนวน 2 ลำ และเครื่องบิน Caravan จำนวน 2 ลำ ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำเหนือเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ซึ่งแม้ขณะนี้ฝนจะตกชุกหนาแน่น แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล หรือเขื่อนอื่นๆ ยังมีปริมาณไม่มากนัก เพื่อสำหรับเก็บกักไว้ให้รองรับกับความต้องการใช้น้ำของประชาชนในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงหลังจากสิ้นสุดฤดูฝนในปีนี้