"อัลฟ่าเจ็ท" เปิดปฏิบัติการฝนหลวง สลายพายุลูกเห็บภาคเหนือ-อีสาน

"อัลฟ่าเจ็ท" เปิดปฏิบัติการฝนหลวง สลายพายุลูกเห็บภาคเหนือ-อีสาน

นำ "อัลฟ่าเจ็ท" เปิดปฏิบัติการฝนหลวง ยับยั้งความรุนแรงของ พายุลูกเห็บ ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน

ฝนหลวง ร่วมกับกองทัพอากาศ นำเครื่องบินโจมตี "อัลฟ่าเจ็ท" เปิดปฏิบัติการฝนหลวง ยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมตั้ง 10 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงช่วยภัยแล้งในพื้นที่เกษตรครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย

 

 

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ท่าอากาศยานทหารกองบิน 41 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับ กองทัพอากาศ เปิดปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งความรุนแรงของการเกิดพายุลูกเห็บ ช่วยเหลือประชาชนพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

โดยมีนายสำเริง แสงภู่วงศ์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นาวาอากาศเอกฉกาจ ทองตะโก รองผู้อำนวยการสำนักยุทธการและการฝึก กรมยุทธการทหารอากาศ ร่วมเปิดปฏิบัติการ

 

นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบิน เปิดเผยว่า สำหรับในปี 2565 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เปิดหน่วยปฏิบัติการจำนวน 2 หน่วย ได้แก่หน่วยปฏิบัติการ จ.เชียงใหม่ ใช้อากาศยานเครื่องบินโจมตี อัลฟ่าเจ็ท จำนวน 1 ลำ รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และ หน่วยปฏิบัติการ จ.พิษณุโลก ใช้อากาศยาน Super King Air 350 ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 2 ลำ รับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

\"อัลฟ่าเจ็ท\" เปิดปฏิบัติการฝนหลวง สลายพายุลูกเห็บภาคเหนือ-อีสาน

 

 

โดยได้รับความร่วมมือจากกองทัพอากาศในการสนับสนุนอากาศยานและบุคลากรในการดำเนินงานร่วมกันปฏิบัติการฝนหลวงในภารกิจยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ โดยการใช้วิธีโจมตีด้วยพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ เป็นวิธีที่จะนำสารฝนหลวงซิลเวอร์ไอโอไดด์เพื่อเร่งกระบวนการทางธรรมชาติ ทำให้ผลึกน้ำแข็งเปลี่ยนสถานะสลายเป็นเม็ดน้ำละลายตกลงมาเป็นน้ำฝน ซึ่งจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรของประชาชนอันเกิดจากพายุลูกเห็บลงได้

 

สำหรับในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน จะเกิดพายุลูกเห็บทุกปี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในปีนี้เริ่มเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่ภาคเหนือบ้างแล้ว กรมฝนหลวงจึงได้ร่วมกับกองทัพอากาศ เพื่อปฏิบัติการยังยั้งการเกิดพายุลูกเห็บที่จะเกิดความรุนแรงด้วยการใช้เครื่องบินอัลฟ่าเจ็ทของกองทัพอากาศเข้ามาช่วยในการปฏิบัติการ โดยมีการพัฒนาพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์เพื่อนำมาใช้สลายลูกเห็บลดความรุนแรง

 

นอกจากภารกิจยับยั้งความรุนแรงของการเกิดพายุลูกเห็บ ยังมีภารกิจช่วยเหลือสนับสนถนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่

 

ที่ผ่านมาในปี 2564 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการเพื่อปฏิบัติภารกิจยับยั้งความรุนแรง ของพายุลูกเห็บ จำนวน 2 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ และ หน่วยฯ จ.พิษณุโลก ปฏิบัติการระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 พฤษภาคม 2564 รวม 31 วัน 38 เที่ยวบิน ใช้พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ทั้งสิ้น 810 นัด ผลจากการปฏิบัติการพบว่า ไม่มีรายงานการเกิดลูกเห็บตกในบริเวณที่ปฏิบัติการ

 

อย่างไรก็ตาม อาจยังคงมีข่าวการเกิดลูกเห็บตกอยู่บ้างนอกเหนือจากพื้นที่ปฏิบัติการ เนื่องจากข้อจำกัดและจำนวนอากาศยานที่มีและการเลือกพิจารณาพื้นที่เป้าหมายสำหรับปฏิบัติการ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะให้ความสำคัญกับพื้นที่ชุมชน ที่อยู่อาศัย และพื้นที่การเกษตรก่อน เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงต่อพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของนิรภัยการบิน เช่น ไม่สามารถปฏิบัติงานในพื้นที่แนวชายแดนได้ เนื่องจากเป็นอากาศยานความเร็วสูง

 

ขณะนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่การเกษตรมาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 4 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ จ.พิษณุโลก จ.นครสวรรค์ และ จ.ขอนแก่น และจะมีการเปิดปฏิบัติการฝนหลวงอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 มีนาคม 2565 ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

 

พร้อมตั้งหน่วยปฏิบัติการ จำนวน 10 หน่วยฯ ได้แก่

 

  • หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ จ.ตาก จ.แพร่ และ จ.พิษณุโลก
  • หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จ.นครสวรรค์ และ จ.กาญจนบุรี
  • หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี และ จ.บุรีรัมย์
  • หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี
  • และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

 

\"อัลฟ่าเจ็ท\" เปิดปฏิบัติการฝนหลวง สลายพายุลูกเห็บภาคเหนือ-อีสาน

 

\"อัลฟ่าเจ็ท\" เปิดปฏิบัติการฝนหลวง สลายพายุลูกเห็บภาคเหนือ-อีสาน

 

ข่าวโดย นิศานาถ กังวาลวงศ์ จ.เชียงใหม่