3 สัปดาห์ ‘ประวิตร’บนเก้าอี้นายกรักษาการ อนุมัติ ‘งบประมาณ’ ไปแล้วเท่าไหร่?

3 สัปดาห์ ‘ประวิตร’บนเก้าอี้นายกรักษาการ อนุมัติ ‘งบประมาณ’ ไปแล้วเท่าไหร่?

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาแล้ว 3 สัปดาห์ อนุมัติใช้งบประมาณ เงินกู้ ให้รสก.กู้เงินเสริมสภาพคล่อง เว้นภาษีดีเซล รวมกันกว่าแสนล้านบาท

จะว่าเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ 2565 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.ก็ได้ที่ทำให้นายกฯรักษาการต้องพิจารณาอนุมัติงบประมาณจำนวนมาก ทั้งจากงบกลางรายการจ่ายกรณีฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วน งบประมาณจากเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ที่จะต้องมีการอนุมัติรายการใช้เงินให้ทันภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้เช่นกัน

ทั้งนี้ใน 3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายการอนุมัติจาก ครม.วงเงินงบประมาณและเงินกู้ตามพ.ร.ก.ฯ รวม 59,673,682,100 บาท (5.96 หมื่นล้านบาทเศษ) มีการอนุมัติการก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจ 8.5 หมื่นล้านบาท และมาตรการที่ไม่ได้ใช้งบประมาณแต่รัฐบาลสูญเสียรายได้จากการเว้นการจัดเก็บภาษีเช่นภาษีน้ำมันดีเซล วงเงินรวม 21,436 ล้านบาท

รวมเป็นวงเงินทั้ง 3 ส่วนที่ ครม.ในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาอนุมัติไปแล้วกว่า 1.66 แสนล้านบาทเศษ

 “กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมรายการและวงเงินที่พล.อ.ประวิตรในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี และประธานการประชุม ครม.อนุมัติไปแล้วได้ดังนี้

1.ครม.วันที่ 30 ส.ค. 2565 อนุมัติวงเงินรวมกว่า 6,332,880,100 ล้านบาทใน 2 โครงการ ได้แก่

-  อนุมัติ 1,050.31 ล้านบาท จากพ.ร.ก.เงินกู้ฯเพิ่มเติม 2565 เพื่อเป็นค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชยและค่าเสี่ยงภัยสำหรับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1,039,729 คน และ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จำนวน 10,577 คน รวมทั้งสิ้น 1,050,306 คน ในอัตรา 500 บาท/คน/เดือน ระยะเวลาเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 ภายใต้ โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชยและค่าเสี่ยงภัยสำหรับการปฏิบัติงานของ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ในชุมชน

 

- อนุมัติงบประมาณ 5,282,570,100 บาท เพื่อก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมถนน และพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย หรือเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนพื้นที่ใน 69 จังหวัด จำนวน 2,086 โครงการ เพื่อเร่งฟื้นฟูสิ่งก่อสร้าง ถนน และพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ของ อปท. ให้สามารถกลับมาใช้งานได้ปกติและมีประสิทธิภาพโดยเร็ว โดยครอบคลุมทั่วประเทศทุกภูมิภาค

3 สัปดาห์ ‘ประวิตร’บนเก้าอี้นายกรักษาการ อนุมัติ ‘งบประมาณ’ ไปแล้วเท่าไหร่?

2.ครม.วันที่ 6 ก.ย. 2565 อนุมัติวงเงินรวม  86,5765 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณ จากงบกลางฯของรัฐบาลวงเงิน 1,576 ล้านบาท และอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เงินเพื่อเสริมเสริมสภาพคล่อง 8.5 หมื่นล้านบาท  โดยมีรายละเอียดดังนี้

-  ครม.เห็นชอบการกู้เงินเพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามนโยบายของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นวงเงินเสริมสภาพคล่องให้ กฟผ.หลังจามีภาระในการดูแลค่า FT โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหลังจากที่ กฟผ.ช่วยแบกภาระค่า FT ประชาชนมาประมาณ 1 ปีตั้งแต่ปี 2564 จนมีปัญหาขาดสภาพคล่อง และทำให้จะมีผลการขาดทุนสูงสุดในเดือน มี.ค.ปี 2566   

- ครม.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปี 2565 วงเงิน 1,576 ล้านบาทเพื่อใช้ดำเนินโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำ 2 โครงการ ได้แก่ 1.วงเงินงบกลางฯส่วนแรกใช้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/66 เพิ่มเติม 576 โครงการ มีกรอบวงเงิน 911.71 ล้านบาท

- การอนุมัติงบให้กรมชลประทาน จัดหาเครื่องจักรกลสูบน้ำ 203 เครื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง มีกรอบวงเงิน 663,879,300 บาท

3.ครม.วันที่ 13 ก.ย. ครม.อนุมัติงบประมาณรวม 51,764.802 ล้านบาท และคิดเป็นการสูญเสียรายได้จากการเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้จากน้ำมันดีเซลวงเงินรวม 21,436 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดได้แก่

- มาตรการดูแลค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนจากการปรับเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน โดยวงเงินที่อนุมัติรวม 9,128.41 ล้าน

 - ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือด้านราคาก๊าซหุงต้ม (LPG ) โดยขยายระยะเวลาส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่เกิน 100 บาทต่อรายต่อเดือน และส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จาก 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เพิ่มขึ้นอีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน รวมเป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2565 คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มประมาณ 5.5 ล้านราย งบประมาณประมาณ 302.5 ล้านบาท

- ครม.อนุมัติโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จำนวน 933.6 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินอุดหนุนให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับสิทธิเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเพิ่มเฉพาะในรอบเดือนกันยายน 2565 จำนวน 2,354,558 คน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ

- ครม.เห็นชอบโครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2565 รอบที่ 5 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยบริการ สถานพยาบาล ที่ให้บริการสาธารณสุขโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด19 สำหรับประชาชนทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย ในช่วงเดือน ก.ย. – พ.ย. 2565 รวม 3 เดือน วงเงิน 27,562.56 ล้าน บาท

โดยให้ใช้จ่ายจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 25,845.84 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 1,716.71 ล้านบาท ให้ สปสช. ดำเนินการโดยใช้จ่ายจากแหล่งอื่น อาทิ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นลำดับแรก

- อนุมัติโครงการที่เกี่ยวกับค่าตอบแทนแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 6 โครงการซึ่งเกี่ยวกับการการดูแลโรคโควิด19 รวมวงเงิน 13,124.102 ล้านบาท ซึ่งแยกเป็นการจ่ายค่าตอบแทนแก่บุคลากรทางการแพทย์โดยตรง วงเงิน 12,123.109 ล้านบาท และ กลุ่มบุคลากรอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานด้านการสนับสนุน วงเงิน 2,167.354 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ใช้จ่ายจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 จำนวน 12,123.109 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 1,000.99 ล้านบาท ให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาใช้จ่ายจากแหล่งอื่นที่เหมาะสมต่อไป

- อนุมัติงบกลางฯวงเงิน 714.64 ล้านบาท ให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นค่าใช้จ่ายโครงการช่วยเหลือความเดือดร้อนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานและค่าใช้จ่ายการให้บริการประชาชน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของกองทุนหมู่บ้านและชมุชนเมือง ตลอดจนประชาชนที่อาศัยในหมู่บ้านและชุมชนที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น

- ครม.ได้อนุมัติงบกลางฯ 1,747 ล้านบาท ในโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ เป็นเงินชดเชยรายละ 15 ไร่ เพื่อสร้างความมั่นคงให้เกษตรกรกว่า 1.3 แสนราย ใน 58 จังหวัด 5,818 กลุ่ม รวม 130,082 ราย มีพื้นที่ผลิตข้าวอินทรีย์รวม 1,209,911 ไร่ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินชดเชยรายได้จากการผลิตข้าวที่ได้ผลผลิตลดลงในระยะเริ่มต้นของการผลิตระบบอินทรีย์ไม่เกิน รายละ 15 ไร่

สูญเสียรายได้ 2.1 หมื่นล้านเว้นภาษีดีเซล 

- ส่วนมาตรการด้านพลังงานที่รัฐบาลยอมสูญเสียรายได้จากการลดภาษีมี 2 มาตรการในส่วนของน้ำมันดีเซล โดยในส่วนแรกได้แก่ การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกันประมาณ 5 บาทต่อลิตร ตามชนิดของน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 2565 - 20 พ.ย. 2565 คาดว่า รายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ น้ำมันลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งการดำเนินการระยะเวลา 2 เดือน จึงคาดว่าจะสูญเสียรายได้ ประมาณ 20,000 ล้านบาท

- ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาลดภาษีสรรพสามิต น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา สำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าในอัตราศูนย์ อีก 6 เดือน ตั้งแต่ 16 กันยายน 2565 - 15 มีนาคม 2566 โดยมาตรการนี้ ส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้รวม 1,436 ล้านบาท แบ่งเป็น สรรพสามิตน้ำมันดีเซล (บี0) ประมาณ 1,400 ล้านบาท และจากน้ำมันเตาประมาณ 36 ล้านบาท

คงต้องจับตามองว่าในการประชุม ครม.อีกอย่างน้อย 2 ครั้งที่พล.อ.ประวิตร จะเป็นประธานการประชุมฯก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการแถลงคำตัดสินในคดี “นายกฯ 8 ปี” ด้วยวาจาในวันที่ 30 ก.ย.2565 นั้นจะมีการอนุมัติงบประมาณอีกเท่าไหร่?

เพราะที่อนุมัติไปก่อนหน้านี้ยังไม่รวมโครงการขนาดใหญ่อย่างโครงการประกันรายได้ข้าว และมาตรการคู่ขนาน ที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์นั่งเป็นประธานการประชุม นบข.ครั้งนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งมีการอนุมัติวงเงินที่เตรียมนำเสนอ ครม.ไว้แล้วกว่า 1.5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีวงเงินงบประมาณประกันราคาปาล์มน้ำมัน และประกันราคามันสำปะหลังวงเงินรวมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาทที่เข้าคิวรอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เช่นกัน