'บีทีเอส' ลุ้น 3 คดีศาลปกครอง ฟ้อง รฟม.ปมประมูลสายสีส้ม

'บีทีเอส' ลุ้น 3 คดีศาลปกครอง ฟ้อง รฟม.ปมประมูลสายสีส้ม

‘บีทีเอส’ ลุ้นศาลปกครองพิจารณา 3 คดี ปมประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ล่าสุดรับฟ้องสอบหลักเกณฑ์ประมูลรอบใหม่มิชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่ศาลอาญาทุจริตนัด 27 ก.ย.นี้ เคาะปมผู้ว่า รฟม. และคณะกรรมการ ม.36 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

การประกวดราคาเพื่อจัดหาเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มซึ่งเป็นโครงการสำคัญเพื่อการเชื่อมโยงการขนส่งทางรางของกรุงเทพฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตก ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องท่ามกลางคดีความที่ยังอยู่ในชั้นศาลหลายคดี

นางสาวปะราลี เตชะจงจินตนา ทนายความผู้รับมอบอำนาจ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยภายหลังรับฟังศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ อ.572/2565 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับพวกรวม 2 คน

ในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการ ม.36) มีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน และวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค ข้อเสนอด้านการลงทุน และผลตอบแทนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การออกแบบและก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

โดยวานนี้ (15 ก.ย.2565) ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาคดีครั้งแรก ซึ่งยังไม่มีการนัดอ่านคำพิพากษา โดยทาง BTSC ได้ยื่นคำแถลงเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร ขณะที่ฝั่งผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีคำแถลงหรือคำชี้แจงเพิ่มเติม ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันการประกวดราคาครั้งที่ 1 จะยกเลิกไปแล้ว และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะมีการเปิดประมูลรอบใหม่แล้ว แต่ BTSC ยืนยันว่าต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ให้กระบวนการศาลเป็นผู้พิจารณาในประเด็นต่างๆ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เนื่องจากทาง BTSC ติดใจในประเด็นที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้แก้ไขหลักเกณฑ์เป็นเรื่องที่กระทำโดยชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ไม่สนไร้ผลกระทบประมูลสายสีส้ม

“คดีนี้สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งทางศาลปกครองกลางตัดสินเป็นไปมิชอบด้วยกฎหมาย และทาง BTSC ได้ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเป็นวงเงิน 5 แสนบาท โดยขณะนี้เป็นกระบวนการศาลที่มีการนัดพิจารณาคดี ซึ่งหากมีการตัดสินคดี แม้ว่าอาจจะไม่เป็นผลต่อการประมูลแล้ว แต่ BTSC ก็ต้องการให้ข้อสงสัยในเรื่องนี้ชัดเจนตามกระบวนการยุติธรรม จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวว่า ปัจจุบันมีคดีที่ BTSC ยื่นตามกระบวนการยุติธรรม ในส่วนของศาลปกครองรวม 3 คดี ประกอบด้วย

1.คดีแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน และวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค ข้อเสนอด้านการลงทุน และผลตอบแทนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในการประกวดราคาครั้งที่ 1 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอนัดตัดสินคดี

2.คดียกเลิกการประกวดราคา และคำสั่งของผู้ว่าการ รฟม.ที่มีคำสั่งและออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 ปัจจุบันศาลปกครองกลางได้พิพากษาเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 ชี้ว่าการยกเลิกประมูลผลจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์คัดเลือกในครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปัจจุบัน รฟม.อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด

3.คดีการกำหนดหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 ชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นคดีล่าสุดที่บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องตามกระบวนการศาลปกครอง และทางศาลปกครองกลางได้รับไว้พิจารณา ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณา แต่ยังไม่มีกำหนดนัดไต่สวนเพิ่มเติม

27 ก.ย.ศาลอาญานัดปมฟ้องผู้ว่าฯ

ขณะเดียวกันยังมีคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาตามกระบวนการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในกรณีที่บริษัทฯ ได้ยื่นฟ้องผู้ว่าการ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงงมีนบุรี-บางขุนนนท์ (สุวินทวงศ์) รวม 7 คน ในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 โดยศาลฯ มีคำสั่งนัดพิจารณาคดีในวันที่ 27 ก.ย.นี้

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า ตามที่ รฟม.ได้มีประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งใหม่ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 และได้เปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP) ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. – 10 มิ.ย. 2565 โดยมีเอกชนผู้สนใจเข้าซื้อเอกสาร RFP ทั้งสิ้น 14 ราย และมีผู้มายื่นข้อเสนอการร่วมลงทุน จำนวนทั้งสิ้น 2 ราย ได้แก่ 1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) (BEM) และ 2. ITD Group

รฟม.ลุยเจรจาเอกชนผ่านเกณฑ์

ขณะนี้ รฟม.ได้พิจารณาข้อเสนอของเอกชนทั้ง 2 ราย ซึ่งประกอบด้วยข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน พบว่ามีผลการยื่นข้อเสนอในเบื้องต้น เป็นข้อเสนอผลประโยชน์สุทธิที่คำนวณมาจากเงินตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะให้แก่ รฟม. หักลบด้วยจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะขอรับจาก รฟม. ปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) เสนอผลประโยชน์สุทธิ เท่ากับ – 78,287.95 ล้านบาท ขณะที่ ITD Group เสนอผลประโยชน์สุทธิ เท่ากับ – 102,635.66 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี จากข้อเสนอผลประโยชน์สุทธิข้างต้นนั้น แม้ว่าBEM จะเป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุด แต่ขั้นตอนหลังจากนี้ รฟม.จะต้องพิจารณาข้อเสนอด้านอื่นประกอบ และพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของข้อเสนอดังกล่าว รวมทั้งจะมีขั้นตอนของการเจรจาข้อเสนอจากทางภาคเอกชนอีกครั้ง เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับภาครัฐและประชาชน ทั้งนี้คาดการณ์ว่าจะมีการเจรจาเร็วๆ นี้ เพื่อเร่งรัดให้ลงนามสัญญาภายในปีนี้ตามเป้าหมาย

สำหรับกรณีที่ BTSC ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลเพิกถอนหรือยกเลิกประกาศเชิญชวนฉบับเดือน พ.ค. 2565 หรือการประกาศเชิญชวนรอบใหม่ และเอกสาร RFP รวมทั้งประกาศกับมติที่เกี่ยวข้องด้วย และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565 ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTSC ร้องขอแล้ว ส่งผลให้ รฟม.สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้ตามขั้นตอน