ถอดมุมมองนโยบายพัฒนา 3 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม
เทรนด์ของเทคโนโลยีดิสรัปชันส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการมุ่งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สามารถเดินต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2565 EconTU Symposium ครั้งที่ 44 ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายของการยกระดับ S-Curve ในยุค Next Normal” เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2565 นำเสนอประเด็นความท้าทายในการยกระดับอุตสาหกรรม S-Curve ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเข้มข้น รวมถึงวิเคราะห์นโยบายและความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกท่ามกลางบริบทโรคระบาดโควิด-19 ใน 3 กลุ่มคลัสเตอร์ ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอาหารแปรรูป
รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ กล่าวว่า ยานยนต์สมัยใหม่หรือ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นเทรนด์อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต้องเกิดขึ้น เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นเร็วแค่ไหน ซึ่งการคาดการณ์ช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงสมดุลของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีอยู่เดิม
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนในหลายๆ เรื่อง ทั้งความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อการขาดแคลนห่วงโซ่อุปทานและต้นทุนวัตถุดิบของที่แพงขึ้นจะเป็นปัจจัยที่จะชะลอการเติบโตของเทรนด์รถอีวี
จากการสำรวจมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวีของ 60 ประเทศทั่วโลกพบว่าปัจจัยหลักที่มีส่วนทำให้การจดทะเบียนรถอีวีใหม่มีปริมาณมากคือรายได้ โดยไม่เกี่ยวกับจำนวนประชากรในประเทศ นอกจากนี้การออกนโยบายอุดหนุนโดยภาครัฐจะมีผลให้เกิดการกระตุ้นดีมานต์การใช้รถอีวีที่เพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานด้านสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เพียงพอ ส่วนมาตรการกระตุ้นอีกอย่างที่ได้ผลคือการให้สิทธิพิเศษในการใช้ถนนสำหรับรถอีวี
ทั้งนี้ มองว่าการที่ไทยเร่งชิงกระแสการเป็น First Mover อาจไม่ได้ประโยชน์อย่างที่คิดไว้ เนื่องจากเทคโนโลยีของรถอีวีที่ยังมีความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด โดยในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ควรคำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมด้วยการอุดหนุนการนำรถเก่าไปเปลี่ยนเป็นรถอีวี (EV Conversion)
นอกจากนี้ การขับเคลื่อนแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่เหมาะสมจะต้องมองอย่างครอบคลุมทุกประเภท ทั้งยานยนต์ไร้คนขับ ยานยนต์ไฟฟ้า และการใช้พลังงานไฮโดรเจน รวมถึงการสนับสนุนโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมใหม่ได้ด้วย
ผศ.ดร.อลงกรณ์ ธนศรีธัญญากุล กล่าวว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมาต้องเผชิญกับการขาดแคลนชิปที่ยาวนาน ซึ่งมาตรการล็อกดาวน์มีส่วนผลักดันให้บริษัทข้ามชาติกระจายการผลิตในห่วงโซ่อุปทานให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดหาชิ้นส่วน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานภายใต้แนวคิดชาตินิยม การเมือง และการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม การโยกย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่ได้ทำได้ง่ายนัก ส่วนใหญ่ที่มีการลงทุนจะเป็นเพียงโรงงานประกอบชิ้นส่วน ซึ่งใช้เทคโนโลยีไม่มาก พึ่งพาแรงงานสูงจึงมีการย้ายไปสู่ประเทศที่ค่าแรงราคาถูก
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ประกอบการในธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบการไทยมีความพยายามปรับตัว อาทิ การพยายามกระจายการลงทุนในหลายอุตสาหกรรม S-Curve อาทิ การยกระดับอุปกรณ์ธรรมดาให้เป็นสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ แต่จุดอ่อนของผู้ประกอบการส่วนใหญ่คือยังขาดข้อมูลและองค์ความรู้งานวิจัย ขาดผู้เชี่ยวชาญ และการทำตลาดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยภาครัฐควรส่งเสริมกลไกจัดซื้อจัดจ้างเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนวิจัย และสิทธิประโยชน์การลงทุนด้านภาษี
อาจารย์วานิสสา เสือนิล กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 2% ในตลาดส่งออกอาหารแปรรูปของโลก แต่แนวโน้มตัวเลขการส่งออกกลับมีทีท่าลดลง จึงถือเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทยในการรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการคือสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการลงทุนในอาหารแห่งอนาคต ประกอบไปด้วย 1. อาหารเสริมสุขภาพ เช่น น้ำผสมวิตามิน 2. อาหารทางการแพทย์ ซึ่งมีการพัฒนาภายใต้คำแนะนำและการดูแลของบุคลากรทางการแพทย์ที่เหมาะสมและสารอาหารครบถ้วน 3. อาหารใหม่ เช่น โปรตีนจากแมลง โปรตีนจากพืช (Plant-Based) และ 4. อาหารอิทรีย์ (Organic Food)
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่มีการลงทุนในอาหารแห่งอนาคต โดยส่วนใหญ่เป็นผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรม ซึ่งใช้กำไรส่วนหนึ่งมาลงทุนวิจัยและพัฒนาอาหารแห่งอนาคต และบางส่วนเป็นผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาในตลาด เนื่องจากการพัฒนาอาหารแห่งอนาคตมีต้นทุนสูง ทั้งด้านการวิจัย เครื่องจักร และวัตถุดิบนำเข้า อีกทั้งขนาดของตลาดนี้ก็ยังมีเพียง 4% ของตลาดโลก เพราะยังมีราคาสูงและผู้บริโภคยังไม่มั่นใจเรื่องมาตรฐานการผลิต
ทั้งนี้ การที่ภาครัฐจะช่วยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปจะต้องเร่งส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงงานวิจัยของหน่วยงานต่างๆ และไม่มีต้นทุนในการเข้าถึงงานวิจัย รวมทั้งส่งเสริมการต่อยอดการพัฒนาวัตถุดิบในประเทศ และการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนด้านภาษีที่เป็นต้นทุนสำคัญ อาทิ เครื่องจักร วัตถุดิบตั้งต้น