'การเมือง'ครอบงำ 'หลักการ' เสียหาย อันตรายต่อเศรษฐกิจประเทศ
การเมืองไทยปี 2565 นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง จึงเห็นปรากฎการณ์แปลกๆทั้งใน ครม. และในสภาฯ ที่มีทั้งการอนุมัติงบประมาณก้อนใหญ่ การผ่านกฎหมายที่ค้านความรู้สึกประชาชน เพียงเพื่อจะใช้เป็นนโยบายที่จะนำไปสู่การหาเสียงเลือกตั้งในครั้งต่อไปโดยไม่สนหลักการที่ถูกต้อง และผลเสียหายต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
บทบาทสำคัญของ “รัฐบาล” อย่างหนึ่งก็คือการจัดสรร “ทรัพยากร” ของส่วนรวมที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวมมากที่สุดทรัพยากรในที่นี้หมายรวมถึงงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด เมื่อไม่พอก็ต้องมีการกู้เงินมาเป็นรายจ่ายหมุนเวียน และเรากู้เงินเพื่อโปะขาดดุลงบประมาณมาต่อเนื่องหลายปี
บทบาทหน้าที่ของ “ผู้แทนราษฎร” ก็คือ “การออกกฎหมาย” ที่เป็นประโยชน์ กับประเทศ และส่วนรวม โดยผ่านการไตร่ตรองด้วยสติ และข้อมูลมาอย่างดีแล้วว่าถูกต้อง ไม่แก้ปัญหาหนึ่ง และสร้างปัญหาในระยะยาว
หน้าที่ของ ส.ส.ไม่ใช่การออกกฎหมายตามที่พรรคสัญญาไว้ตอนหาเสียง เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้วผลเสียจะเกิดกับประเทศมากกว่าผลดี
เพราะตอนที่หาเสียงนั้นเป็นการเอาชนะการทางการเมือง หากทำตามทุกนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็คือภาระทางการคลัง งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่มีทางพอที่จะตอบสนองต่อทุกนโยบายประชานิยม
สิ่งที่น่ากลัวของการเมืองทุกวันนี้ก็คือการหาเสียงก่อนเลือกตั้ง เป็นการหาเสียงโดยใช้ช่องทางนโยบาย การแก้กฎหมายตามที่พรรคได้หาเสียงไว้ตั้งแต่เลือกตั้งครั้งก่อนแล้วหวังว่าจะใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
เมื่อนักการเมืองทุกคน ทุกพรรคมองว่าการเลือกตั้งรออยู่ข้างหน้าในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน หลายนโยบายที่มีการอนุมัติใน ครม.จึงใช้เงินมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการอนุมัติวงเงินรวมกันมากกว่าแสนล้านทั้งงบกลางฯ เงินกู้ การก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจ
ขณะที่สภาฯที่ควรเป็นที่กลั่นกรองพิจารณากฎหมายที่ดีและถูกต้องก็ถูกใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนยื่นหมูยื่นแมวกันทางการเมือง พรรคนึงเสนอ อีกพรรคหนึ่งช่วยโหวตสนองทอดไมตรีกันทางการเมืองโดยไม่ได้เกรงอกเกรงใจประชาชน
ตัวอย่างเรื่องของร่าง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อกู้ยืมเพื่อการศึกษา (ก.ย.ศ.) เห็นได้ชัดว่าข้อเสนอเลิกเก็บดอกเบี้ย เลิกค่าปรับ เลิกการค้ำประกันแบบสุดซอยนั้นเสนอโดยพรรคการเมืองหนึ่ง พอผ่านความเห็นชอบ ส.ส.อีกพรรคหนึ่งออกมาขอบเป็นการใหญ่
กองทุนฯที่ยืนเป็นหลักให้นักเรียนนักศึกษาได้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษามาตั้งแต่ปี 2538 ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าท้องตลาดชนิดเทียบกันไม่ได้ มีนักเรียนนักศึกษากู้ยืมไปแล้วมากกว่า 6.2 ล้านคน กำลังถูกการเมืองเข้ามาปรับเปลี่ยนให้กองทุนฯอ่อนแอลงจนวันข้างหน้าอาจจะล้มลงได้ เพราะขนาดมีดอกเบี้ย ค่าปรับ การค้ำประกัน ก็ยังเบี้ยวหนี้กัน 70%
ส่วนในครม.พรรคการเมืองหนึ่งก็เตรียมจะขนเอานโยบายประกันรายได้สินค้าเกษตรด้วยวงเงินมหาศาล โดยเฉพาะการประกันรายได้ชาวนาและมาตรการคู่ขนานที่ใช้เงินรวมกันกว่า 1.5 แสนล้านบาทมาเข้า ครม.เพื่อขออนุมัติในเร็วๆนี้
โครงการนี้วงเงินเพิ่มขึ้นไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า จากปีแรกที่ของบฯมาแค่ 3 หมื่นล้านบาท เป็นไปได้อย่างไรทั้งที่นโยบายก็เหมือนกัน ผลผลิตข้าวก็ใช่จะเพิ่มขึ้นมาก ปริมาณส่งออกข้าวก็ลดลงทุกปี
...นี่คือสภาพการเมืองไทยในปี 2565 ก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่กี่เดือน เป็นภาวะที่ทุกสิ่งทุกอย่างถูกการเมืองครอบงำ จน “หลักการ” ที่ถูกต้องเสียหาย
การเมืองที่มองแต่ผลประโยชน์จนลืมมองความถูกต้อง ลืมมองความยั่งยืนการเงินการคลัง และลืมผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว