“อีอีซี”ผนึกเจโทรดึงญี่ปุ่น ลงทุน“บีซีจี-นวัตกรรม”
ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างประเทศอันดับหนึ่งของไทยมาเกือบตลอด 30 ปี ที่ผ่านมา โดยทำให้ภาครัฐของไทยยังให้น้ำหนักกับการดึงญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG นวัตกรรมขั้นสูง โดยพร้อมเจรจาสิทธิประโยชน์ให้นักลงทุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่เพิ่มขึ้น
สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวในงานสัมมนา “Business Opportunities in Eastern Economic Corridor” ในวันที่ 31 ส.ค.2565 ว่า ภายหลังจากที่ สกพอ.ลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) เมื่อเดือนม.ค.2565 เพื่อผลักดันให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เน้นด้านเทคโนโลยีขั้นสูง การต่อยอดด้านการวิจัยและพัฒนา ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มสุขภาพ กลุ่มดิจิทัล กลุ่มการลงทุนคาร์บอนต่ำ และกลุ่มโลจิสติกส์
รวมทั้งการเร่งรัดการลงทุนใหม่จากภาคเอกชนญี่ปุ่นตามนโยบาย Asia-Japan Investing for the Future Initiative (AJIF) เพื่อขยายความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจร่วมกัน
ทั้งนี้คำขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) มีนักลงทุนญี่ปุ่นรั้งลำดับ 1 ที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทย แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพในอีอีซี ที่มีความก้าวหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งโลจิสติกส์ ดิจิทัล 5G และศูนย์การวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นรูปธรรม ที่สร้างความมั่นใจการเข้าลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นและนักลงทุนทั่วโลก
นอกจากนี้ อีอีซีกำหนด 7 เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ที่นักลงทุนเจรจาสิทธิประโยชน์การลงทุนเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์การลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้โดยตรงกับ สกพอ.สำหรับธุรกิจอยู่ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม เพื่อผลักดันเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงของประเทศ
รวมทั้ง อีอีซีเป็นพื้นที่กลไก Regulatory Sandbox ที่สำคัญในการสร้างอีโคซิสเต็มที่ดีที่สุดสำหรับดึงดูดการลงทุนต่างชาติ การร่างกฎหมายและกฎระเบียบสำหรับการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมยุคใหม่ ผ่อนปรนกฎระเบียบหรือข้อกฎหมายต่างๆ ที่ยังล้าหลังกว่ารูปแบบธุรกิจหรือการพัฒนานวัตกรรมโดยยังมีหน่วยงานรัฐกำกับดูแล อาทิ การจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ และการใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) สำหรับการเกษตรและโลจิสติกส์ การจัดตั้งสำนักงานการให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จเพื่อสร้างความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) และการขยายสิทธิในการถือสัมปทานจาก 30 ปี เป็น 50 ปี
“ต่อจากนี้ 5 ปีข้างหน้า อีอีซีกำหนดเป้าหมายที่ทะเยอทะยานว่าจะมีการลงทุนมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งหวังว่านักลงทุนจากญี่ปุ่นจะมีส่วนร่วมในการพาเราไปสู่เป้าหมายดังกล่าว”
สำหรับแผนการลงทุนระยะ 2 ของอีอีซี ตั้งเป้าหมายการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีเงินลงทุนปีละ 400,000-500,000 ล้านบาท (ปี 2566-2570) โดยเน้นลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ต่อยอดด้านการวิจัยและพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่
1.อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ 2.อุตสาหกรรมดิจิทัล 3.Decarbonization ครอบคลุมเรื่องยานยนต์สมัยใหม่หรือ EV ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี Smart Mobility และ 4.อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์
ทั้งนี้ เพื่อจูงใจดึงการลงทุนใหม่จากภาคเอกชนญี่ปุ่น และนักลงทุนทั่วโลกเข้าสู่อีอีซี โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนภายใต้ BCG โมเดล เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งย้ำความมุ่งมั่นที่จะทำให้อีอีซีเป็นพื้นที่การลงทุนอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะเป็นเทรนด์สำคัญของโลกเพิ่มแรงจูงใจและรองรับนักธุรกิจจากทั่วโลกที่จะมาลงทุนได้ต่อเนื่อง
คุโรดะ จุน ประธาน เจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า จากการสำรวจของเจโทรพบว่าในปีนี้มีบริษัทญี่ปุ่นตั้งอยู่ในอีอีซี 1,100 บริษัท เทียบปี 2018 มี 600 บริษัท สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนจากภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ยังสนใจลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2565 ญี่ปุ่นประกาศนโยบาย AJIF เพื่อกำหนดทิศทางการลงทุนและส่งเสริมให้มีการลงทุนใหม่ในภูมิภาคเอเชีย ผลักดันให้เป็นแหล่งห่วงโซ่อุปทานของโลก รวมทั้งการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียวที่มีความยั่งยืน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลให้ทุนสนับสนุน 2 ใน 3 ของเงินลงทุนทั้งหมด สำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องการขยายการลงทุนในภูมิภาค อาทิ บริษัท โยโกฮาม่า โมลด์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตแม่พิมพ์ยางรถยนต์ มีการลงทุนขยายฐานการผลิตหลักรองจาก โรงงานในจีน และญี่ปุ่น เข้ามาตั้งอยู่ที่ จ.ระยอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค
นอกจากนี้ ด้านการขับเคลื่อนนวัตกรรมเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2565 เจโทรคัดเลือก 10 โครงการสตาร์ทอัพจากญี่ปุ่น อาทิ ด้านการแพทย์ สิ่งแวดล้อม พลังงาน สนับสนุนเงินทุน 2 ใน 3 มูลค่าสูงสุด 15 ล้านเยนต่อบริษัท ในการมาขยายโครงการความร่วมมือกับเอกชนและรัฐบาลไทยเพื่อพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน