การเก็บภาษีกำไรลาภลอย (windfall tax) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมามากอย่างรวดเร็ว ก็ได้มีการเรียกร้องให้เก็บภาษีพิเศษจากบริษัทน้ำมัน ที่กำลังได้รับลาภลอย (windfall tax) จากกำไรที่เพิ่มขึ้นมูลค่ามหาศาล ซึ่งน้อยคนจะไม่เห็นด้วย
เพราะภาพพจน์ของบริษัทน้ำมันใหญ่ ๆ นั้น ก็ไม่ได้ดีมากอยู่ก่อนแล้ว หากลองนึกดูก็ไม่เคยเห็นภาพยนตร์เรื่องใดที่พระเอกหรือ “คนดี” จะเป็นผู้บริหารของบริษัทน้ำมัน และปัญหาโลกร้อนปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ก็เกิดจากการใช้พลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ดังนั้น เมื่อภาพลักษณ์ของบริษัทน้ำมันที่ไม่ได้เป็นภาพในเชิงบวกอยู่ก่อนแล้ว กำไรที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ได้ทำให้คนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามด้วย โดยเฉพาะเมื่อกำไรที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเกิดขึ้นจากความยากลำบากของประชาชนทุกคน
ผมก็ไม่เคยคิดเข้าข้างบริษัทน้ำมันใหญ่ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะได้รับประโยชน์ในเชิงผูกขาดจากการที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ไม่กี่บริษัท ที่ควบคุมการแสวงหาและผลิตพลังงงานทั่วโลก
แต่เมื่อมีการเสนอให้เก็บภาษีพิเศษกับบริษัทในกลุ่มนี้ ก็ทำให้เกิดคำถามในใจว่าบริษัทน้ำมันนั้นในอดีตเป็นธุรกิจที่ “โชคดี” ได้รับลาภลอยจนทำให้ผลประกอบการ (กำไร) สูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ หรือไม่
ซึ่งตรงนี้ผมจะใช้ข้อมูลจากดัชนีของ S&P 500 ของสหรัฐเป็นตัวชี้วัด โดยคัดเลือกดัชนีของภาคอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 3 ภาคอุตสาหกรรมและให้ผลตอบแทนต่ำสุด 3 ภาคอุตสาหกรรมดังปรากฏในตารางข้างล่าง
ข้อมูล 10 ปีย้อนหลังของดัชนีราคาหุ้นใน S&P 500 นั้นปรากฏว่าอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำที่สุดคือ ภาคพลังงานที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิเพียง 1.12% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและ 4.66% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
การปรับขึ้นของราคาพลังงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 11.53% ต่อปี และใน 1 ปีที่ผ่านมาก็ได้ผลตอบแทนสูงถึง 71.22% ตรงนี้ผมได้นำเอาผลตอบแทนจากภาคอื่นๆ อีก 2 ภาคคือการบริการการสื่อสารและภาควัตถุดิบมาให้ดูเป็นการเปรียบเทียบด้วย
เมื่อเห็นเช่นนี้แล้วก็ต้องถามว่า การจะเก็บภาษีลาภลอยจากภาคพลังงานนั้นจะส่งผลในระยะยาวอย่างไร?
คำตอบแบบพื้นๆ คือน่าจะยิ่งทำให้ภาคธุรกิจนี้ไม่น่าลงทุน ทำให้ในระยะยาวโอกาสที่จะเกิดปัญหาการขาดแคลนพลังงานอย่างฉับพลันอาจเกิดขึ้นได้อีกโดยง่าย
จริงๆ แล้วบริษัทน้ำมันก็กำลังพยายามปรับเปลี่ยนธุรกิจของตนไปทำธุรกิจอื่นๆ ที่คาดหวังว่าจะทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะถูกเก็บภาษีกำไรลาภลอยคงจะยิ่งทำให้บริษัทน้ำมันหาทางกระจายความเสี่ยงไปสู่ธุรกิจประเภทอื่นๆ อย่างเร่งรีบมากขึ้น
ดังนั้น ผมจึงนำเอาภาคธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดมาเปรียบเทียบให้ดูด้วย ซึ่งภาคธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือ ภาคไอที (Information Technology) ที่ให้ผลตอบแทนสุทธิสูงถึง 17.00% ต่อปี
โดยเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (และให้ผลตอบแทนสูงกว่า 19% ต่อปีในช่วง 3 หรือ 5 ปีที่ผ่านมา) แม้ว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาผลตอบแทนจะติดลบมากถึง 13.53% ผลตอบแทนดังกล่าวสูงกว่าผลตอบแทนจากลงทุนในดัชนี S&P 500 โดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ
อีกสองภาคธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงรองลงมาจากภาค IT คือของใช้ที่ไม่จำเป็น (consumer discretionary) และภาคสาธารณสุขและสุขภาพ (health care)
ซึ่งทั้งสองภาคนี้ก็ได้รับผลกระทบในระยะสั้นในเชิงลบเช่นกัน แต่ต้องยอมรับว่า ผลตอบแทนที่สูงถึง 12-13% ต่อปีนั้นเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่าภาคพลังงานแบบฟ้ากับดินเลยทีเดียว
แต่คงจะไม่มีใครคิดที่จะเก็บภาษีพิเศษหรือภาษีลาภลอยกับ 2 ภาคธุรกิจดังกล่าว เพราะมองว่าเป็นภาคธุรกิจที่เป็นประโยชน์และมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างมาก (แต่พลังงานก็น่าจะมีความสำคัญไม่แพ้กันมากนัก) และสมควรให้การสนับสนุนเพื่อการพัฒนาและเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต
นอกจากนั้นแล้วท่านผู้อ่านบางคนอาจจะอยากดูต่อไปอีกว่าราคาหุ้นในภาค IT กับภาคพลังงานในปัจจุบันนั้น “ถูก” หรือ “แพง” มากน้อยเพียงใด ซึ่งผมก็ได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจมาให้ดูดังปรากฏในตารางเช่นกัน
ทั้งนี้ข้อมูลข้างต้นจะเป็นคนละชุดกับข้อมูลในตารางแรก โดยข้อมูลพื้นฐานที่ใช้คำนวณจะเก่ากว่า แต่เพื่อให้เห็นว่าราคาหุ้นในภาคพลังงานนั้นราคายังถูกกว่าราคาหุ้นในภาค IT อย่างมาก (เช่นหากดูจาก PE หรือ Price to Book Value)
แม้ว่าราคาหุ้นพลังงานจะเพิ่มขึ้นมากในปีนี้และราคาหุ้น IT จะลดลงอย่างมากในช่วงเดียวกัน ทั้งนี้ไม่ได้เป็นการชี้ชวนให้ลงทุนหรือไม่ลงทุนในภาคธุรกิจดังกล่าวนะครับ.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร