‘สุพัฒนพงษ์’ กางแผนตรึงค่าไฟ ใช้น้ำมันผลิตไฟ - เลื่อนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

‘สุพัฒนพงษ์’ กางแผนตรึงค่าไฟ  ใช้น้ำมันผลิตไฟ - เลื่อนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

‘สุพัฒนพงษ์’ กางแผนตรึงค่าไฟ ใช้น้ำมันผลิตไฟแทนก๊าซฯ - เลื่อนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เร่งคุยกัมพูชาปมพัฒนาเศรษฐกิจ-พลังงานบนพื้นที่ทับซ้อนเพื่อผลประโยชน์ทั้งสองประเทศ ชี้ค่าไฟลดลงได้หากราคา LNG ในตลาดมีการปรับตัวลดลง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางอนาคตพลังงานไทย” ในงาน New Energy แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน  จัดโดยฐานเศรษฐกิจว่า

ในขณะนี้เพื่อหาทางตรึงค่าไฟฟ้าไม่ให้เป็นภาระกับประชาชน และให้ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันได้ในช่วงที่ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดปริมาณลง และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีราคาสูงขึ้นมากจากปีที่แล้วราคาเฉลี่ยประมาณ 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู มาเป็น 40 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูในปีนี้

              ทั้งนี้หากคิดจากต้นทุนก๊าซ LNG ที่ปรับเพิ่มขึ้นทำให้กระทรวงพลังงานมีการประชุมหารือกันแทบทุกวันเพื่อแก้ปัญหาต้องพยายามทุกทางเพื่อไม่ให้ค่าไฟขยับขึ้น เพราะวันนี้ก๊าซ LNG แพงมาก 40 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู หากนำมาผลิตไฟฟ้า 7 – 8 บาทต่อหน่วยจากต้นทุนพลังงานนำเข้าซึ่งติดเป็น 20% สุดท้าย วันนี้จึงสั่งการว่าให้ตัดสินใจใช้น้ำมันดีเซลมาปั่นไฟฟ้า เพื่อให้ลดค่าไฟของประชาชน ซึ่งลดได้ระดับหนึ่ง และเลื่อนระยะเวลาการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะออกไป 2 เครื่องซึ่ง เรายอมในเรื่องของสิ่งแวดล้อมได้ส่วนหนึ่งไม่เช่นนั้นต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจะสูงมากและค่าไฟจะสูงกว่านี้

            

นอกจากนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เอาเครื่องผลิตไฟฟ้ามารวมกันเพื่อผลิตในระยะสั้นๆ เพื่ออยู่ในกรอบการปล่อยคาร์บอนที่ยอมรับได้โดยมีการปรับเครื่องผลิตให้สามารถรองรับการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าได้

กระทรวงพลังงานยังมีการเจรจากับประเทศมาเลเซียเพื่อเจรจาขอซื้อก๊าซธรรมชาติเพิ่มจากแหล่งพัฒนาร่วม (JDA) แม้จ่ายเพิ่มในราคาที่สูงขึ้นแต่ก็ถือว่าราคาต่ำกว่าก๊าซ LNG จากต่างประเทศ รวมทั้งการเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวล ในช่วงหีบอ้อย เพื่อลดการผลิตจากก๊าซธรรมชาติ และใช้การผลิตไฟจากชีวมวล

“ถามว่าค่าไฟจะราคาลงหรือไม่ ตรงนี้ขึ้นกับราคา LNG ถ้าลงเมื่อไหร่ ราคาค่าไฟก็ลงเมื่อนั้น แต่อย่างไรก็ตามประชาชนที่ใช้ไหไม่เกิน 300 หน่วยรัฐบาลยังดูแลอยู่ไม่ได้มีการเรียกเก็บเพิ่มแต่อย่างใด” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

 


 

สำหรับในระยะต่อไป ยังมีการหารือถึงความเป็นไปแหล่งก๊าซธรรมชาติอื่นๆ รัฐบาลฟื้นคณะการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนและแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ขึ้นมา โดยในพื้นที่ JDA ไทยมาเลเซียเคยใช้เวล 25 ปี ในการเจรจาเรื่องนี้ถ้าตกลงได้กับกัมพูชาแล้วก็จะเอาก๊าซขึ้นมาใช้ให้ได้ใน10 ปี รวมทั้งการเปิดสัมปทานเพิ่มในประเทศ และลงทุน สำรวจในประเทศเพื่อนบ้าน คือกัมพูชา เชื่อว่าทั้งสองประเทศต้องการคุยกันเพื่อประโยชน์ที่รองรับวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นได้