ดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลกหนุน'เอดีบี'หั่นคาดการณ์ศก.เอเชีย

ดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลกหนุน'เอดีบี'หั่นคาดการณ์ศก.เอเชีย

ภาวะขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่มีธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)เป็นผู้นำ กำลังสร้างแรงกดดันแก่นักลงทุน รวมทั้งตลาดหุ้น ตลาดทองคำและตลาดน้ำมันโลก ล่าสุด เอดีบี ได้หั่นคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียทั้งปีนี้และปีหน้า

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียทั้งในปี 2565 และ 2566 เนื่องจากมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการที่ธนาคารกลางใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน, ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามในยูเครน และการที่จีนใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เอดีบี เผยแพร่รายงาน “Asian Development Outlook” วานนี้้ (21 ก.ย.) ระบุว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียซึ่งรวมถึงจีนและอินเดียด้วยนั้น จะขยายตัว 4.3% ในปี 2565 ซึ่งลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนก.ค.ที่ระดับ 4.6% และระดับ 5.2% ในเดือนเม.ย.

ส่วนในปี 2566 เอดีบี คาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จะขยายตัว 4.9% ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ในเดือนก.ค.ที่ระดับ 5.2% และระดับ 5.3% ในเดือนเม.ย.

“อัลเบิร์ต พาร์ค” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี ให้ความเห็นว่า “นับตั้งแต่ที่เอดีบีเผยแพร่รายงาน Asian Development Outlook ในเดือนเม.ย. ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ก็ปรากฏให้เห็นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางทั่วโลกพากันใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเชิงรุก ที่กำลังส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และสั่นคลอนความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน”

เอดีบี คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 3.3% ในปี 2565 ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนก.ค.ที่ระดับ 4% และระดับ 5% ในเดือนเม.ย. ส่วนในปี 2566 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 4.5% ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.8%
ดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลกหนุน\'เอดีบี\'หั่นคาดการณ์ศก.เอเชีย

นอกจากนี้ เอดีบี ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2566 ลงสู่ 2.3% จาก 2.6% ที่คาดการณ์เอาไว้ในเดือนก.ค. เนื่องจากวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นว่า การเดินหน้าคุมเข้มทางการเงินในสหรัฐและประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ จะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม เอดีบี ได้คงคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2565 ของเกาหลีใต้ไว้ที่ 2.6% นอกจากนี้ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อเกาหลีใต้ประจำปี 2565 และ 2566 เอาไว้ที่ 4.5% และ 3% ตามลำดับ

สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้เผชิญความเสี่ยงของภาวะ Stagflation (ภาวะเงินเฟ้อสูงที่เกิดขึ้นในเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว) เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนภายนอกที่เพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่การส่งออก ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ส่งสัญญาณอ่อนกำลังลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้เกาหลีใต้ขาดดุลการค้าติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ในเดือนส.ค. โดยได้รับแรงกดดันจากต้นทุนพลังงานที่อยู่ในระดับสูง

ด้านกรมศุลกากรเกาหลีใต้ระบุว่า เกาหลีใต้ขาดดุลการค้าในช่วง 20 วันแรกของเดือนก.ย. แตะที่ 4.1 พันล้านดอลลาร์ ท่ามกลางการส่งออกที่อ่อนแอ หลังจากมียอดเกินดุลการค้าที่ 1.17 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

สำหรับในช่วง 5 เดือนจนถึงเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ขาดดุลการค้าที่ 2.48 พันล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ขาดดุลการค้าที่ 1.59 พันล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ค. ขาดดุลการค้า 2.5 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมิ.ย. ขาดดุลการค้า 5.08 พันล้านดอลลาร์ในเดือนก.ค. และขาดดุลการค้า 9.49 พันล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค.

ส่วนภูมิภาคย่อยในเอเชีย  เอดีบี คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียกลางจะขยายตัว 5.1% และ 3.9% ในปี 2565 ตามลำดับ ซึ่งดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ แต่ก็คงคาดการณ์เศรษฐกิจในเอเชียใต้ไว้ที่ 6.5% แม้เอดีบี ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจอินเดียลงสู่ระดับ 7% จากระดับ 7.2% เนื่องจากวิกฤตเงินเฟ้อและผลกระทบของการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน

ในส่วนของฟิลิปปินส์ รายงานเอดีบี ระบุว่า อุปสงค์ภายในประเทศที่ดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากการผ่อนปรนมาตรการคุมเข้มข้อจำกัดในการเดินทางเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สนับสนุนให้เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ขยายตัว 6.5% ในปี 2565

รายงานของเอดีบี คาดการณ์ด้วยว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในปี 2566 จะอยู่ที่ 6.3% เนื่องจากทั้งการคุมเข้มนโยบายการเงินและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั้น จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ

เอดีบี คาดว่า เงินเฟ้อของฟิลิปปินส์จะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 5.3% ในปี 2565 ซึ่งเป็นผลจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นในตลาดโลก

ทั้งนี้ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรในประเทศนั้นมีแนวโน้มทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นไปจนถึงสิ้นปี

นอกจากนี้ เอดีบียังคงคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับปี 2566 ไว้ที่ 4.3% เนื่องจากเศรษฐกิจที่กลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่องจะทำให้อัตราเงินเฟ้อค่อนข้างมีเสถียรภาพ ขณะที่ราคาพลังงานมีแนวโน้มที่จะลดลง

“เคลลี เบิร์ด” ผู้อำนวยการเอดีบี ประจำฟิลิปปินส์ ให้ความเห็นว่า การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชน ประกอบกับการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างต่อเนื่องในด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการโอนเงินกลับประเทศของชาวฟิลิปปินส์ในต่างประเทศนั้น จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ฟื้นตัวในปีนี้

เอดีบี ยังปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ยังคงส่งผลให้ราคาอาหารและเชื้อเพลิงพุ่งขึ้น โดยเอดีบี คาดว่า อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะอยู่ที่ 4.5% ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนเม.ย.ที่ระดับ 3.7% และระดับ 4.2% ในเดือนก.ค.

ส่วนในปี 2566  เอดีบี คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในภูมิภาคแห่งนี้จะอยู่ที่ 4% เพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนเม.ย.ที่ระดับ 3.1% และระดับ 3.5% ในเดือนก.ค.