“ค่าไฟแพง” แห่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป “พลังงาน” ลดขั้นตอนของ่ายขึ้น
“ค่าไฟแพง” ประชาชนแห่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป “พลังงาน” เด้งรับรีบปรับลดกระบวนการให้ความเห็นอนุญาตให้ผลิตไฟฟ้า ให้มีความรวดเร็วขึ้น เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น
ด้านสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นทั่วโลก หลาย ๆ ประเทศราคาค่าไฟขยับเกินกว่าเท่าตัว ในขณะที่ประเทศไทย ยังคงใช้กลไกการอุดหนุนจากงบประมาณของรัฐบาลในการช่วยเหลือโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางแบ่งเป็น
1. กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย ตั้งแต่เดือนก.ย.– ธ.ค. 2565 (ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นค่า Ft เดือนพ.ค.-ส.ค. จำนวน 23.38 สตางค์ต่อหน่วย และส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนก.ย.–ธ.ค.จำนวน 68.66 สตางค์ต่อหน่วย)
2. กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน โดยการให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนก.ย.–ธ.ค.2565 แบบขั้นบันได ในอัตรา 15 -75%
อย่างไรก็ตาม ด้วยความต้องการใช้พลังงานที่สูงขึ้น คงหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้ไฟฟ้าไม่ได้ อีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่พอจะมีกำลังและรักพลังงานสะอาด ต่างเริ่มหันมาเห็นความสำคัญของพลังงานแสงอาทิตย์ โดยการขอติดตั้งซลาร์รูฟท็อป ด้วยราคาที่เริ่มถูกลง
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ ได้มีการยื่นคำขอใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยอยู่ที่ระดับกว่า 150 รายต่อเดือน โดยกว่า 80% เป็นคำขออนุญาตผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป ทำให้กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นเดิมไม่สามารถรองรับต่อปริมาณคำขอที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้น พพ.จึงได้มีการประชุมชี้แจงการปรับปรุงกระบวนการให้ความเห็นการออกแบบใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ รวมกว่า 500 ราย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.), วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย, สภาวิศวกร, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การไฟฟ้านครหลวง, สมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย, สมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
ดร.ประเสริฐ กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 และ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 กำหนดให้ผู้ที่จะผลิตไฟฟ้าขนาดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 200 kVA ขึ้นไป (ประมาณ 200 kW) ต้องมีการยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ (พค.1) และแบบตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุมต่อ กกพ. และทาง กกพ. นำส่ง พพ. พิจารณาให้ความเห็นอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) เพื่อความปลอดภัยของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จะติดตั้ง
ทั้งนี้ พพ.จึงได้มีการปรับลดกระบวนการพิจารณาให้ความเห็นอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) ใหม่ให้กระชับและระยะเวลาที่เร็วขึ้นด้วยการใช้วิธีรองรับข้อมูลด้วยตนเองโดยวิศวกรที่ต้องขึ้นทะเบียนกับ พพ. (Self Declaration) ซึ่งจากเดิมกระบวนการให้ความเห็นของ พพ. จะใช้เวลาในการตรวจแบบส่งข้อมูลและตรวจแบบด้วยการ live ณ สถานที่ติดตั้ง , ตรวจหน้างานจริง (non-solar) ซึ่งรวมระยะเวลากว่า 60 วัน และการปรับกระบวนการใหม่จะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน ซึ่งจะทำให้ผู้ยื่นคำขอได้มีการผลิตและการใช้พลังงานที่เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การขับเคลื่อนการผลิตพลังงานควบคุมเป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้อง พพ.จึงได้ออกประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ประกอบการให้ความเห็นการออกใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุมต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
และ ประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เรื่อง การรับขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุม ซึ่งประกาศทั้ง 2 ฉบับ จะช่วยให้เกิดความคล่องตัว และทันต่อสถานการณ์การปรับตัวต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น