ราคาทองดิ่ง 1.8% แตะต่ำสุดรอบกว่า 2 ปี หวั่นดอกเบี้ยขาขึ้น-ดอลล์แข็งทุบตลาด
ราคาทองฟิวเจอร์ ปิดวันศุกร์ (23ก.ย.)ดิ่งลง 1.8% แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี โดยถูกกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
สัญญาทองคำตลาดโคเม็กซ์ ส่งมอบเดือนธ.ค. ลบ 1.8% สู่ระดับ 1,651 ดอลลาร์/ออนซ์
นอกจากนี้ ราคาทองยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟดพุ่งขึ้นเหนือระดับ 4.2% ในวันนี้ และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี
การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวสูงกว่าระยะยาว ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย
ทั้งนี้ เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมรอบนี้ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าเฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนแตะระดับ 4.6% ในปี 2566
ถึงแม้ทองถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในยามที่ตลาดเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่การที่เฟดมีแนวโน้มเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็ได้บดบังปัจจัยบวกดังกล่าว เนื่องจากการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทอง เนื่องจากทองเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
ทั้งนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพ.ย. และปรับขึ้นอีก 0.50% ในเดือนธ.ค.
หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวตามคาด จะส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันถึง 4 ครั้งในการประชุมเดือนมิ.ย.,ก.ค.,ก.ย.และพ.ย. ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะพุ่งแตะระดับ 4.25-4.50% ในช่วงสิ้นปีนี้ และจะทำให้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวสูงกว่าระดับ 2.50% ซึ่งเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่เฟดมองว่าเป็นกลาง โดยไม่ผ่อนคลายหรือเข้มงวดจนเกินไป
ผลการสำรวจของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ระบุว่า นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทคาดการณ์ว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนแตะระดับสูงสุด และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวต่อไประยะหนึ่ง โดยเฟดจะใช้มาตรการดอกเบี้ยแบบ "ขึ้นแล้วคง" (hike and hold) แทนที่จะใช้มาตรการ "ขึ้นแล้วลง" (hike and cut) ตามที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้
ผลการสำรวจระบุว่า นักวิเคราะห์คาดว่าเฟดจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนแตะระดับ 4.26% ในเดือนมี.ค.2566 โดยคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นเวลาเกือบ 11 เดือน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของบรรดานักวิเคราะห์ที่คาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือนไปจนถึง 2 ปี
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่า มีแนวโน้ม 52% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า อันเนื่องจากการที่เฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากเกินไป
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์มองว่าเฟดต้องใช้เวลาอีกหลายปี ก่อนที่จะประสบความสำเร็จในการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย 2% โดยคาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เมื่อเทียบรายปี จะอยู่ที่ระดับ 6.8% ในช่วงสิ้นปี 2565 และอยู่ที่ 3.6% ช่วงสิ้นปี 2566 ก่อนที่จะปรับตัวลงสู่เป้าหมาย 2% ของเฟดในปี 2567