กนอ.โชว์วิสัยทัศน์ปี 66-70 รุกนิคมฯ “บีซีจี” ดึงลงทุน
การขับเคลื่อนธุรกิจในปัจจุบันมีหลายเมกะเทรนด์ที่อยู่ในกระแส ไม่ว่าจะเป็นการลดการปล่อยคาร์บอน การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการขับเคลื่อนภายใต้ BCG Model ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy)
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดยุทธศาสตร์ปี 2566-2570 ภายใต้วิสัยทัศน์ “นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” เร่งส่งเสริมการลงทุนด้วยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เน้นการบริการและดำเนินงานแบบ นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate : Smart I.E.) สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนหลังปี 2565 สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้นิคมอุตสาหกรรมใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสร้างความมั่นคงด้านการจัดการพลังงาน โดยร่วมทุนกับบริษัทในเครือ (Holding Company)
การกำหนดวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้มองใน 4 มิติ คือ 1.การส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงการร่วมลงทุนกับเอกชนเพื่อ ศึกษาแนวทางการลงทุนใหม่ 2.Digital Transformation , Digital Twin และ Innovation 3.นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ หรือ Smart I.E. ซึ่งจะเป็นการให้บริการตามมาตรฐานสากล 4.การพัฒนา ECO Industrial Estate ซึ่งครอบคลุมประเด็น GHGs Redution (COP 26) และ BCG Economy
นอกจากนี้ จะมีการศึกษาการจัดตั้งนิคอุตสาหกรรมตามแนวทาง BCG โดยมีพื้นที่ศึกษาในเบื้องต้น 3 พื้นที่ ประกอบด้วย 1.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.จังหวัดลำพูน
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมมีแนวโน้มลงทุนในธุรกิจ BCG เพิ่มขึ้น รวมทั้งขยายกิจกรรมจากภายในนิคมอุตสาหกรรมไปสู่ชุมชนโดยรอบ และมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะพลาสติก อาทิ การนำขยะพลาสติกในบ่อฝังกลบกลั่นเป็นน้ำมัน
รวมทั้งที่ผ่านมามีการนำร่องความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดการด้านขยะพลาสติกตามแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” โดยส่งเสริมและผลักดันให้เกิดโครงการนำร่องการจัดการด้านขยะพลาสติกในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม สร้างพฤติกรรมการคัดแยกขยะพลาสติกที่ถูกวิธี และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากขยะพลาสติกที่ได้จากโครงการ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและในเชิงธุรกิจ
รวมทั้งจะมีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมใน EEC เพื่อรองรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย
1.นิคมอุตสาหกรรม Smart Park จ.ระยอง พื้นที่ 1,384 ไร่ เพื่อส่งเสริมอุตาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve ของ EEC โดยจะเปิดดำเนินการภายในปี 2567
2.การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 บนพื้นที่ 1,000 ไร่ โดยใช้งบประมาณ 55,400 ล้านบาท
วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.เปิดเผยว่า กนอ.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินภารกิจจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ที่บริการระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการอย่างครบวงจรแก่การประกอบอุตสาหกรรม การให้บริการอนุมัติอนุญาตการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตลอดจนการควบคุมและกำกับดูแลการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรอบคอบและต่อเนื่อง รวมทั้งประเมินศักยภาพการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อเตรียมพร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างเหมาะสม
ในปีงบประมาณ 2565 กนอ.สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้นิคมอุตสาหกรรมใน EEC ด้วยการจัดหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง โดยการลงนามสัญญาซื้อขายน้ำดิบระหว่าง กนอ.และบริษัทเอกชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้
นอกจากนี้ ยังมีการเริ่มต้นธุรกิจใหม่เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการจัดการพลังงาน อาทิ โครงการลงทุนในบริษัทวิศวกรรมพลังงาน กับบริษัทเอกชน
สำหรับปีงบประมาณ 2566 กนอ.ได้จัดทำแผนวิสาหกิจฯ แผนปฏิบัติการฯ และแผนแม่บทต่างๆ ที่สอดคล้องกับ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 คือ ช่วงปี 2566-2570 โดยแผนวิสาหกิจฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” (Internationalize Standard Industrial Estates with Sustainable Innovation) เพื่อมุ่งมั่นบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมด้วยมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ การที่ กนอ.ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอก เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนทิศทางของ กนอ.ให้บรรลุผลตามที่ตั้งเป้าไว้
“กนอ.มุ่งยกระดับการบริหารนิคมอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมและดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ทั้ง S-Curve และ New S-Curve ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล และลูกค้าเดิมที่ กนอ.มีอยู่ โดยมุ่งสร้างการเติบโตและส่งเสริมการลงทุนด้วยธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มุ่งเน้นการบริการและการดำเนินงานด้วยการนำระบบอัจฉริยะมาใช้ในนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ"
รวมทั้งยกระดับการบริการอนุมัติ-อนุญาตที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ในลักษณะของระบบอัตโนมัติ (Automated) ตลอดจนการเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน
นอกจากนี้ กนอ.ยังแสวงหาโอกาสจากการลงทุนผ่านกลไกของบริษัทในเครือ (Holding Company) ทั้งการจัดตั้งหรือขยายนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรืออุตสาหกรรม จากการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี และการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคให้เติบโตภายใต้รูปแบบ BCG Model รวมทั้งบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดศักยภาพสูงสุด