“มาเลเซีย” ประเทศรายได้สูง เวียดนามกำลังจะตามไป
หลังมาเลเซียมีรายได้เฉลี่ยประชากรต่อหัวสูงขึ้นในปีนี้ทำให้ขยับขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้สูงอย่างปฏิเสธไม่ได้ และล่าสุดเวียดนามก็เป็นอีกประเทศในอาเซียนที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด แต่สำหรับประเทศไทยยังคิดอยู่กับอยู่ที่ประเทศรายได้ปานกลาง
ประเทศไทย ก้าวขึ้นมาอยู่ระดับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง เมื่อปี 2554 ตามการประกาศของธนาคารโลก หลังจากรายได้ต่อหัวของประเทศไทยขึ้นในปีดังกล่าวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4,210 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการก้าวขึ้นมาจากกลุ่มรายได้ปานกลางระดับล่างที่ประเทศไทยเข้าสู่ระดับดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2531 เมื่อรายได้เฉลี่ยต่อหัวเกินคนละ 1,036 ดอลลาร์ นับแต่นั้นมาประเทศก็ติดกับดักประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางมามากกว่า 30 ปีแล้ว
ในขณะที่รัฐบาลมาเลเซีย รายงานรายได้เฉลี่ยประชากรต่อหัวล่าสุดของปี 2565 เป็นการอ้างข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรากฏข้อมูลชาวมาเลเซียมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 13,268 ดอลลาร์ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ธนาคารโลกในการจัดกลุ่มประเทศตามสถานะรายได้ และทำให้มาเลเซียเข้าเงื่อนไขของประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Nation) ซึ่งแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 12 (2564-2568) ของมาเลเซีย กำหนดให้ปี 2568 ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศไฮเทคและประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง
ในขณะที่เวียดนาม ประเทศที่กำลังเป็นดาวเด่นของอาเซียน รัฐบาลเวียดนามสามารถบริหารเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี ถึงแม้ว่าทุกประเทศเผชิญสถานการณ์เดียวกัน แต่การดึงการลงทุนจากต่างประเทศยังทำได้อย่างเข้มแข็ง รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของเวียดนามทำงานอย่างเข้มแข็งเพื่อดึงบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในเวียดนาม ในขณะที่เศรษฐกิจไตรมาส 2 ของเวียดนามขยายตัว 7.72% ถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี มากกว่าช่วงก่อนระบาดของโควิด-19 เสียอีก
เวียดนาม ประกาศเป้าจะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2588 หรือในอีก 23 ปีข้างหน้า ซึ่งเวียดนามมั่นใจถึงศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ย 6-7% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า และเวียดนามจะสามารถทำได้ด้วยแนวคิดที่ต้องการยกระดับประเทศตัวเอง เวียดนามเลือกที่ก้าวข้ามความขัดแย้งกับจีนหรือสหรัฐแล้วมาสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงเวียดนามกล้าสร้างโอกาสให้ประเทศจากการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้าในปัจจุบัน 16 ฉบับ ครอบคลุม 54 ประเทศ
ย้อนกลับมาประเทศไทย กำลังเผชิญความท้าทายอย่างมากในการก้าวข้ามประเทศรายได้ปานกลางที่อยู่ในสถานะนี้มาแล้ว 30 ปี โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) กำหนดเป้าหมายรายได้ต่อหัวเท่ากับ 9,300 ดอลลาร์ สูงขึ้นจากปี 2564 ที่อยู่ระดับ 7,097 ดอลลาร์ ซึ่งการจะสู่เป้าหมายดังกล่าวต้องดึงพลังจากหลายฝ่ายร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพราะไม่อย่างนั้นไทยคงอยู่ในระดับประเทศรายได้ปานกลางต่อไป แล้วปล่อยให้ชาติในอาเซียนแซงหน้าไปทีละประเทศ