ดาวโจนส์ทรุด 329 จุด หุ้นอสังหาฯดิ่งนำตลาด กังวลดอกเบี้ยขาขึ้นฉุดเศรษฐกิจ
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันจันทร์(26ก.ย.)ปรับตัวร่วงลง 329 จุด ท่ามกลางความกังวลที่ว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไปจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังได้รับผลกระทบจากภาวะผันผวนในตลาดปริวรรตเงินตรา ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าจะกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 329.60 จุด หรือ 1.11% ปิดที่ 29,260.81 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 38.19 จุด หรือ 1.03% ปิดที่ 3,655.04 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 65.00 จุด หรือ 0.60% ปิดที่ 10,802.92 จุด
หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ดิ่งลงนำตลาด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นแตะระดับ 32.88 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่กลางเดือนมิ.ย.
นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพ.ย. และปรับขึ้นอีก 0.50% ในเดือนธ.ค.
หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวตามคาด จะส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันถึง 4 ครั้งในการประชุมเดือนมิ.ย.,ก.ค.,ก.ย.และพ.ย. ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะพุ่งแตะระดับ 4.25-4.50% ในช่วงสิ้นปีนี้ และจะทำให้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวสูงกว่าระดับ 2.50% ซึ่งเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่เฟดมองว่าเป็นกลาง โดยไม่ผ่อนคลายหรือเข้มงวดจนเกินไป
นอกจากนี้ นักลงทุนกังวลว่าการแข็งค่าของดอลลาร์ในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ
ทั้งนี้ ดอลลาร์พุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์เทียบปอนด์ และแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 20 ปีเทียบยูโร ขณะที่ดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 144 เยน แม้รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราครั้งใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อพยุงค่าเงินเยนที่ทรุดตัวลง
ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของเฟด พุ่งขึ้นเหนือระดับ 4.3% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2550 และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี
การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวสูงกว่าระยะยาว ส่งผลให้ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย
นายสตีฟ แฮงค์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ 80% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หากเฟดยังคงใช้มาตรการปรับลดขนาดงบดุล (QT) ต่อไป
นายแฮงค์ กล่าวว่า เฟดเป็นต้นเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบนับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาทะยานขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเต็มใจจ่ายมากขึ้นสำหรับการซื้อสินค้า
ส่วนผลการสำรวจของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี พบว่า นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ 52% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า