‘ชโยทิต’ ชี้ ‘วีซ่า LTR’ หนุนต่างชาติพำนักไทย เล็งปลดล็อกเงื่อนไขซื้อบ้าน
ชโยทิต เผยในงานสัมนาอสังหาริมทรัพย์ฯศก.ไทยแกร่ง - นโยบายหนุน เอื้อรับการย้ายฐานลงทุน ต่างชาติพำนักไทยระยะยาวหลังทำวีซ่า LTR เตรียมพิจารณามาตรการให้ต่างชาติซื้อบ้านอยู่อาศัยได้ โดยพิจารณาสัดส่วนถือครองในโครงการบ้านจัดสรรไม่เกิน 49% เหมือนกับเกณฑ์ที่ใช้ในคอนโดฯ
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “อสังหาริมทรัพย์พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” จัดโดยสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย วานนี้ (28 ก.ย.) ว่าอสังหาริมทรัพย์ถือว่าเป็นภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องจำนวนมากโดยคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 9.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มีการจ้างงานกว่า 2.8 ล้านคน ภาคอสังหาฯมีการเกี่ยวข้องธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ
ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการในการช่วยเหลือและสนับสนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องได้แก่มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการโอนและจดจำนองสำหรับบ้าน คอนโดมิเนียม ทั้งมือ1 และมือ 2 ที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท การผ่อนเกณฑ์ Loan to Value (LTV) ให้ผู้กู้เงินรายใหม่สามารถกู้เงินซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น และการจัดโครงการบ้านล้านหลังของธนาคารอาคารสงเคราะห์อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามในระยะต่อไปหลังจากที่รัฐบาลได้มีการประกาศเปิดรับวีซ่าสำหรับผู้พำนักในประเทศไทยระยะยาว (LTR) ที่ให้วีซ่าแก่คน 4 กลุ่มเป้าหมายระยะเวลา 10 ปี ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่ไทยให้วีซ่ากับคนต่างชาติเกิน 1 ปี และไม่ต้องติดเงื่อนไขการมารายงานตัวกับทางการ 90 วัน ซึ่งนโยบายนี้ได้รับผลตอบรับที่ดีในช่วงเดือนแรกที่เปิดรับใบสมัคร โดยมีชาวต่างชาติที่ยื่นใบสมัครมาแล้วประมาณ 600 ราย พบว่าเป็นกลุ่มยุโรป (EU) 30% อเมริกา 20% ที่เหลือเป็นกลุ่มประเทศอื่นๆ โดยในจำนวนนี้พบว่ากลุ่มที่ยื่นใบสมัครกว่า 40% เป็นกลุ่มผู้ที่ต้องการเข้ามาเกษียณอายุในประเทศไทย
“ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจสำหรับการยื่นใบสมัครในช่วงเดือนแรกประมาณ 600 ราย เพราะเรายังไม่ได้โปรโมทอะไรเลย ต่อไปเราต้องโปรโมทมากขึ้นร่วมกับบีโอไอ รวมทั้งจะมีหน่วยงานที่เป็น One Stop Service ในการช่วยอำนวยความสะดวก ให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวกในการเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งเรามีเป้าหมายว่าจะดีงคนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยประมาณ 1 ล้านคน หรือปีละประมาณ 2 แสนคน ซึ่งต้องทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง”
นอกจากนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างรับฟังข้อเสนอจากสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยเกี่ยวกับข้อเสนอเพิ่มเติมในการซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยของชาวต่างชาติซึ่งแต่เดิมเป็นการอนุญาตให้ซื้อที่อยู่อาศัยได้เฉพาะคอนโด โดยมีสัดส่วนการถือครองของชาวต่างชาติในโครงการได้ไม่เกิน 49% ของโครงการทั้งหมด ซึ่งเมื่อรัฐบาลมีนโยบายในการให้วีซ่า LTR แล้วเงื่อนไขของการมาพำนักระยะยาวในไทยของกลุ่มต่างชาติเป้าหมายของไทยคือต้องการที่จะซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย ทั้งบ้านเดี๋ยว และบ้านจัดสรรที่เป็นทาวเฮาส์มีรั้วรอบขอบชิด โดยรัฐบาลก็จะรับฟังข้อคิดเห็นจากสมาคมอสังหาฯ ภาคเอกชนโดยเปิดกว้างรับฟังทุกความคิดเห็น
“การรับฟังความคิดเห็นจากชาวต่างชาติที่ให้ความเห็นเรื่องการทำงานและเข้ามาอาศัยในประเทศไทย ต้องการที่อยู่ในบ้านแนวราบ ซึ่งหากถามผมเงื่อนไขเบื้องต้นอาจใช้เงื่อนไขเดียวกับคอนโดฯคือให้ต่างชาติถือครองได้ 49% ในโครงการบ้านจัดสรร เช่นเดียวกับคอนโดฯและคนไทยยังซื้อบ้านในโครงการในสัดส่วนมากกว่า 51% หรือว่าอาจจะไม่มีข้อกำหนดในเรื่องนี้ไปเลยในอนาคตเพราะหลายประเทศก็ปลดล็อกเงื่อนไขเหล่านี้ เพราะบ้านและที่อยู่อาศัยนั้นถือว่าเป็นหลักสำคัญของการอยู่อาศัยและการทำงานในประเทศต่างๆ หากไทยปลดล็อกตรงนี้เราก็มีโอกาสมากขึ้นในการแข่งขันดึงเอาคนที่มีความสามารถสูง รายได้สูงเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นได้”
ม.ล.ชโยทิต กล่าวต่อว่าปัจจุบันพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแรงมาก เศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัว 2.7-3.2% ส่วนเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนค่่ในขณะนี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ปกติเพราะสหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยไปมาก ขณะที่ไทยยังไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยมาก เงินทุนจึงมีการเคลื่อนย้ายไปยังสหรัฐฯ และไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยแต่เกิดขึ้นกับทุกๆประเทศยกเว้นสหรัฐฯที่ดอลลาร์แข็งค่า
ทั้งนี้ปัจจุบันเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งมาก มีเงินออมในระดับสูง ความจำเป็นในการพึ่งพาเงินทุนต่างชาติมีน้อยมากโดยเรามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สูงสุดเป็นอันดับ 12 ของโลกต่างจากช่วงต้มยำกุ้งมากแม้ว่าที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เราจะมีการใช้เงินสำรองในการดูแลค่าเงินไปบ้าง แต่เรื่องของเงินทุนไหลเข้าที่จะมาจากการลงทุนในเมืองไทยยังมีอีกมากทั้งจากโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นโครงการการลงทุนในเรื่องรถไฟฟ้า (EV) สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัล และการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด ตามแผนลดคาร์บอน
รวมทั้ง PPD ฉบับใหม่ของไทยที่จะลดการปล่อยคาร์บอนโดยผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 50% ก๊าซธรรมชาติ 50% โดยไม่มีการใช้ถ่านหินในไทยภายในปี 2040 ซึ่งการลงทุนต่างชาติที่เป็นการลงทุนทางตรง (FDI) ที่ผ่านการขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอปีละไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนล้านบาท นั้นจะยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งจะช่วยให้ไทยมีเงินทุนไหลเข้าจากในส่วนนี้ในระดับที่น่าพอใจ