รัฐเตรียมตั้ง ‘คสดช.’ ปลดล็อกวีซ่า LTR ดึงต่างชาติเพิ่มการลงทุนไทย
รัฐบาลเตรียมออกประกาศสำนักนายกฯตั้ง คสดช. มีรองนายกฯที่นายกฯมอบหมายเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะมาตรการสำคัญในการดึงต่างชาติศักยภาพสูงเข้าลงทุนและพำนักระยะยาวในไทยต่อ ครม.ได้โดยตรง
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 (ศบศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเป็นประธานเมื่อเร็วๆนี้ได้เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในการจัดตั้งคณะกรรมการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (คสดช.)
โดยคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ในการสนับสนุนนโยบายการดึงดูดชาวต่างชาติศักยภาพสูงในกลุ่มที่เป็นนักธุรกิจ นักลงทุน แรงงานที่มีทักษะสูงเข้ามาทำงานและอู่อาศัยระยะยาวในประเทศไทย ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้เห็นชอบการให้วีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาว (Long-term residentvisa) หรือ “LTR” ที่มีอายุ 10 ปี และตั้งเป้าว่าจะมีชาวต่างชาติในกลุ่มนี้มาอาศัยในประเทศไทยประมาณ 1 ล้านคนในระยะเวลา 5 ปี
ทั้งนี้หลังจากที่ได้มีการนำเอามาตรการนี้ไปโรดโชว์ระหว่างการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานเมื่อเดือนที่ผ่านมา และรับฟังความเห็นจากนักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศพบว่าแม้จะมีมาตรการวีซ่า LTR ก็ยังต้องมีนโยบายสนับสนุนอื่นๆ รวมทั้งมีการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนอื่นๆที่ต้องมีความคล่องตัวในการอนุมัติสั่งการจึงได้มีการเสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการเฉพาะขึ้นจึงนำมาสู่การพิจารณาให้ตั้ง คสดช.ขึ้นมารับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ
สำหรับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี การจัดตั้ง คสดช. จะมีองค์ประกอบต่างๆได้แก่ รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน รวมทั้งมีข้าราชการประจำได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็น กรรมการ นอกจากนี้ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ กฎหมาย การลงทุน การท่องเที่ยว หรือเทคโนโลยีจำนวนไม่เกิน 4 คนเข้ามาเป็นกรรมการ และมอบหมายให้บีโอไอเป็นเลขานุการของคณะกรรมการชุดนี้
สำหรับอำนาจหน้าที่ของ คสดช.นั้น ประกอบไปด้วย 1. กำนดแนวทาง ยุทธศาสตร์และผลักดันนโยบายการดึงดูดชาวต่างชาติที่มี ศักยภาพสูงให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยในลักษณะผู้พำนักระยะยาว (Long-term Resident)
2.กำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติเงื่อนไข และวิธีการรับ เพิกถอน และขอยกเลิก การจดทะเบียนตัวแทน รวมทั้งกำหนดขอบเขตการดำเนินงาน วิธีการ มาตรฐาน และอัตราค่าบริการ รวมทั้งตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของตัวแทนจดทะเบียน
3.จัดทำความตกลงกับหน่วยงานของรัฐเพื่อกำหนดกระบวนงาน วิธีการ มาตรฐาน รวมทั้งกรอบระยะเวลาในการดำเนินการในกรณีที่คนต่างด้าวหรือตัวแทนจดทะเบียนติดต่อหรือยื่นขอ อนุญาตแทนคนต่างด้าวกับหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ไม่ซ้ำซ้อน และไม่เป็นภาระเกินสมควร
4.พิจารณาปัญหาของหน่วยงานของรัฐ ตัวแทนจดทะเบียน และคนต่างด้าวในการ ดำเนินการตามระเบียบนี้
5.รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการผลักดันการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยต่อ ครม.อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
6.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของ คสดช. ได้ตามความจำเป็น
7. เสนอแนะให้มี ยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่ เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ในกรณีมีความจำเป็นเพื่อให้การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการบรรลุผล คณะกรรมการอาจเสนอเรื่องต่อ ครม.เพื่อพิจารณาสั่งการให้ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ สนับสนุน หรือให้ความร่วมมือก็ได้
และ8. ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของระเบียบนี้หรือตามที่ ครม.หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย