ชลประทาน เร่งระบายน้ำมูลลงโขงรับน้ำเหนือ
กรมชลประทาน ยกบานประตูระบายน้ำทุกบานตลอดแนวแม่น้ำชี-มูล เร่งระบายลงแม่น้ำโขง รับน้ำเหนือ ขณะ กอนช. ประกาศ พื้นที่เพิ่มอีก 18 จังหวัดเสี่ยงเกิดน้ำหลากน้ำท่วมฉับพลัน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าได้ติดตามสถานการณ์น้ำ หลังพายุ "โนรู" เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศไทยที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อคืนวันที่ 28 ก.ย.65 ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงและภาคเหนือตอนล่าง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนตกกระจายตัวทั่วประเทศ
ปัจจุบัน(29 ก.ย. 65) สถานการณ์ลุ่มน้ำชี-มูล ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่สถานีวัดน้ำ M7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 3,737 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น กรมชลประทาน โดยสำนักเครื่องจักรกล และสำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดรโฟล์เพิ่มเติมที่บริเวณแก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร จำนวน 9 เครื่อง
และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ อีก 200 เครื่อง ที่บริเวณสะพานโขงเจียม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำไปแล้วที่บริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร 140 เครื่อง เร่งผลักดันน้ำในลำน้ำมูลให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด ส่วนในพื้นที่ตอนบน ได้ยกบานประตูระบายน้ำทุกบานตลอดแนวแม่น้ำชี-มูล เพื่อเร่งระบายน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น
สำหรับพื้นที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก กรมชลประทาน ยังคงให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ เร่งสูบระบายออกจากพื้นที่จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ ได้กำชับให้นำบทเรียนจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2562 มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำและการช่วยเหลือประชาชน เพื่อลดผลกระทบโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งเดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด
นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) กล่าวว่า ฝนตกหนักมากหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขณะนี้ในหลายพื้นที่มีฝนตกสะสมในช่วง 1 – 2 วันนี้ มากกว่า 100 มิลลิเมตร กอนช.ประเมินฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าอิทธิพลของพายุจะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกต่อเนื่องสะสม 150 – 250 มิลลิเมตร ประกอบกับปัจจุบันในลำน้ำและแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำมากอาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากน้ำท่วมฉับพลัน
จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม ในช่วงวันที่ 29 กันยายน – 4 ตุลาคม 2565 จากประกาศ ฉบับที่ 41/2565 ได้แก่
1. ภาคเหนือ บริเวณ จังหวัดลำปาง อำเภอห้างฉัตร เมืองลำปาง และเกาะคา
จังหวัดตาก อำเภออุ้มผาง ท่าสองยาง และแม่ระมาด
จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอวิเชียรบุรี ศรีเทพ บึงสามพัน และหนองไผ่
จังหวัดกำแพงเพชร อำเภอปางศิลาทอง และคลองลาน
2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จังหวัดอุดรธานี อำเภอบ้านผือ
จังหวัดชัยภูมิ อำเภอภักดีชุมพล หนองบัวระเหว และหนองบัวแดง
จังหวัดขอนแก่น อำเภอเมืองขอนแก่น
จังหวัดยโสธร อำเภอเลิงนกทา เมืองยโสธร และทรายมูล
จังหวัดนครราชสีมา อำเภอแก้งสนามนาง และด่านขุนทด
จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอกระสัง
จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอไพรบึง กันทรารมย์ และกันทรลักษ์
จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเขื่องใน ดอนมดแดง เมืองอุบลราชธานี ศรีเมืองใหม่ นาตาล โขงเจียม เดชอุดม ตระการพืชผล พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ โพธิ์ไทร ม่วงสามสิบ ตาลสุม และเขมราฐ
จังหวัดอำนาจเจริญ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ เสนางคนิคม พนา และชานุมาน
จังหวัดมุกดาหาร อำเภอดอนตาล
3. ภาคกลาง บริเวณ จังหวัดลพบุรี อำเภอลำสนธิ ท่าหลวง ชัยบาดาล สระโบสถ์ และพัฒนานิคม
จังหวัดสระบุรี อำเภอมวกเหล็ก วังม่วง และแก่งคอย
4. ภาคตะวันออก บริเวณ จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอประจันตคาม เมืองปราจีนบุรี กบินทร์บุรี นาดี และศรีมหาโพธิ
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง
3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ
รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์