พาณิชย์ เผย ราคาปุ๋ยตลาดโลกปรับลดลง 20 % กำชับผู้จำหน่ายต้องปรับราคาลง
กรมการค้าภายใน ถก 3 สมาคมปุ๋ยเคมี กำชับยี่ปั๊ว ซาปั๊ว เอเย่นต์ ขายปุ๋ยเคมีปลายทางลดลงให้สอดคล้องหลังราคาปุ๋ยเคมีโลกปรับลดลง เผยเฉพาะปุ๋ยยูเรีย ลดแล้ว 20% ย้ำหากพบการเอารัดเอาเปรียบ เล่นงานหนักตามกฎหมาย คุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือสถานการณ์สินค้าปุ๋ยเคมี ร่วมกับสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ว่า ขณะนี้ ราคาปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรีย ที่มีการใช้มาก ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงเดือนพ.ค.2565 ที่เป็นช่วงที่ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุด จนถึงปัจจุบันราคาปรับลดลงมาแล้วประมาณ 20% จึงได้ขอความร่วมมือให้สมาคมฯ กำชับไปยังยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และเอเย่นต์จำหน่ายปุ๋ยเคมี ให้ขายในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุน ห้ามฉวยโอกาสขายในราคาแพงกว่าต้นทุน
“สมาคมฯ และผู้ผลิตปุ๋ยเคมี ได้ยืนยันว่าราคาปุ๋ยเคมีตลาดโลก ได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง และจะช่วยกำชับให้ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และเอเย่นต์จำหน่ายปรับลดราคาให้สอดคล้อง เพราะต้นทุนที่ออกจากโรงงานได้ลดราคาลงมาแล้ว ปลายทางก็ต้องลดลงมาด้วย โดยกรมฯ จะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างใกล้ชิดต่อไป หากพบมีการฉวยโอกาส ไม่ปรับลดราคาให้สอดคล้องกับต้นทุน จะดำเนินการตามกฎหมายเด็ดขาด มีโทษสูงสุดจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”นายวัฒนศักย์กล่าว
ทั้งนี้ ราคาจำหน่ายปุ๋ยยูเรีย ซึ่งเป็นปุ๋ยที่เกษตรกรใช้มาก ราคาเคยขึ้นไปสูงสุดประมาณ 1,600 บาทต่อกระสอบ ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 1,300 บาทต่อกระสอบ
นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยโพแทส และปุ๋ยฟอสเฟต ไม่มีปัญหาขาดแคลน เพราะได้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้ามาช่วยและสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยประสานกับผู้ผลิตปุ๋ยในซาอุดิอาระเบีย จำหน่ายปุ๋ยให้ไทยในราคาพิเศษ ซึ่งเกษตรกรมั่นใจได้ว่าฤดูกาลผลิตที่จะถึงนี้ จะมีปุ๋ยเพียงพออย่างแน่นอน
ส่วนราคาจำหน่าย ก็ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสมาคมฯ พร้อมที่จะร่วมมือกับกรมการค้าภายใน ในการกำชับให้สมาชิกปรับลดราคาลงมาให้สอดคล้องกับต้นทุนที่ลดลง เพื่อไม่ให้เกษตรกรถูกเอาเปรียบ และคาดว่าราคาปุ๋ยในระยะต่อไป คงจะไม่รุนแรงเหมือนที่ผ่านมา เพราะขณะนี้ ทางฝั่งยุโรป ไม่ได้เป็นฤดูกาลเพาะปลูก ทำให้ปริมาณปุ๋ยมีเกินความต้องการ แต่ยังต้องจับตาสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อ และอาจมีผลกระทบต่อราคาก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นที่มาของปุ๋ยเคมี อาจจะทำให้ปุ๋ยเคมีราคาสูงขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า จะเป็นต้นทุนสำคัญที่จะเพิ่มขึ้น เพราะปุ๋ยเคมีต้องนำเข้า