กรมชลฯ ยัน..ทุกเขื่อนแข็งแรง ขณะ สทนช.โต้เพื่อไทยใช้งบแก้วิกฤติน้ำทัวไทย

กรมชลฯ ยัน..ทุกเขื่อนแข็งแรง  ขณะ สทนช.โต้เพื่อไทยใช้งบแก้วิกฤติน้ำทัวไทย

กรมชลประทาน ยืนยันเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทุกแห่ง มั่นคงแข็งแรงดี สามารถใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ แม้บางแห่งจะมีปริมาณน้ำเต็มอ่างฯ ย้ำมีการตรวจสอบติดตามพฤติกรรมเขื่อนตลอดทั้งปี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (29 กันยายน 2565) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 56,260 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 74 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 19,842 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 16,915 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 7,956 ล้าน ลบ.ม.

กรมชลฯ ยัน..ทุกเขื่อนแข็งแรง  ขณะ สทนช.โต้เพื่อไทยใช้งบแก้วิกฤติน้ำทัวไทย กรมชลฯ ยัน..ทุกเขื่อนแข็งแรง  ขณะ สทนช.โต้เพื่อไทยใช้งบแก้วิกฤติน้ำทัวไทย กรมชลฯ ยัน..ทุกเขื่อนแข็งแรง  ขณะ สทนช.โต้เพื่อไทยใช้งบแก้วิกฤติน้ำทัวไทย

 

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้มีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางของทั้งประเทศตลอดทั้งปี สามารถใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่พื้นที่ด้านท้าย จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเขื่อนที่อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน ยังมีความมั่นคง แข็งแรงดี ซึ่งกรมชลประทาน จะเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯให้ได้มากที่สุด สำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าได้อย่างเพียงพอ 

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า   กรณีรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แสดงความเห็นว่า ในการเตรียมรับมือสถานการณ์อุทกภัย รัฐบาลควรมองปัญหาการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศอย่างเป็นองค์รวมทั้งระบบ เนื่องจากมาตรการระยะสั้นอาจไม่เพียงพอ

พร้อมระบุว่า แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 58-69 หากนับเฉพาะปี 60-65 รัฐบาลใช้งบประมาณไปแล้ว 3.64 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั้น

สทนช. ขอชี้แจงว่า รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและน้ำแล้งมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่งมีการดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ มากกว่า 48 หน่วยงาน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ

โดยมุ่งเน้นขับเคลื่อนแผนงานโครงการขนาดใหญ่ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในวงกว้าง ซึ่งปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนไปแล้ว จำนวน 44 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักรวม 1,414 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีพื้นที่รับประโยชน์ 1.48 ล้านไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 319,765 ครัวเรือน

ทั้งนี้ เป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณในการดำเนินการแล้ว จำนวน 24 โครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น โครงการบรรเทาอุทกภัยนครศรีธรรมราช โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร โดยกรมชลประทาน สามารถช่วยป้องกันพื้นที่น้ำท่วมได้ 61,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบันสามารถช่วยป้องกันบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรได้บางส่วนแล้ว

ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินงานโครงการด้านทรัพยากรน้ำที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติโครงการสำคัญที่ได้รับการขับเคลื่อนแล้ว ในช่วงปี 59-65 จำนวน 241 โครงการ เมื่อโครงการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 1,371 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 1,400,000 ไร่ พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 1,250,541 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 505,828 ครัวเรือน เช่น ประตูระบายน้ำ ศรีสองรัก จ.เลย อ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ ประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ จ.สกลนคร ปรับปรุง คลองยม-น่าน จ.สุโขทัย

คลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ฟื้นฟูพัฒนา คลองเปรมประชากร (คลองผดุง - คลองรังสิต) อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากร จ.กรุงเทพมหานคร บรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ซึ่งโครงการบางส่วนที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วนั้นเป็นโครงการเดียวกับโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ 350,000 ล้านบาท ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

“การดำเนินการของรัฐบาลได้เน้นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่วิกฤต (Area-Base) ทั่วทั้งประเทศ โดยมีการพิจารณาในทุกมิติ ทั้งด้านศักยภาพการแก้ไขปัญหา โดยมีผลการศึกษารองรับ รวมถึงด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งต่างจากโครงการ 350,000 ล้านบาท ที่มุ่งไปที่โครงการซึ่งมีเป้าหมายเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา และไม่ได้พิจารณาเรื่องความพร้อมของโครงการ โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน” 

นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการในการรับมือก่อนภัยจะเกิดขึ้นตามฤดูกาล โดยการบูรณาการส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการเตรียมความพร้อม รวมทั้งกำหนดกรอบแนวทาง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้ง เช่น การกำหนดมาตรการประจำปีสำหรับรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง อาทิ

จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ การวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง การสร้างการรับรู้สถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด เป็นต้น ส่วนมาตรการสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือในฤดูฝน อาทิ ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตร ให้พร้อมใช้งาน ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ การขุดลอกคูคลอง และการกำจัดผักตบชวา เป็นต้น

ทั้งนี้ นอกจากการดำเนินการในภาวะปกติของหน่วยงาน ยังได้มีการจัดตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เพื่อแก้ปัญหาในภาวะวิกฤติควบคู่ไปด้วย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างทันสถานการณ์ สามารถช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนได้อย่างตรงจุด และคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว

“จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของรัฐบาล ส่งผลให้พื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งลดอย่างต่อเนื่อง โดยจากปี 61 มีปัญหาภัยแล้ง 12,826 หมู่บ้าน 1,199 ตำบล 178 อำเภอ 26 จังหวัด ในขณะที่ปี 63/64 มีปัญหาภัยแล้ง เพียง 296 หมู่บ้าน 45 ตำบล 10 อำเภอ 5 จังหวัด เช่นเดียวกับความเสียหายจากอุทกภัยที่มีจำนวนลดลง โดยจากปี 61 มีประชาชนได้รับผลกระทบ 418,338 ครัวเรือน ในขณะที่ปี 64 ได้รับผลกระทบเพียง 239,776 ครัวเรือน

ทั้งนี้ รัฐบาลยังคงดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน”