คุยกับ ‘ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์’ ทำอย่างไรให้ ‘ศก.ไทย’ ได้ประโยชน์จาก ‘ตลาดทุน’

คุยกับ ‘ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์’  ทำอย่างไรให้ ‘ศก.ไทย’ ได้ประโยชน์จาก ‘ตลาดทุน’

“ตลาดทุน” ถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจที่นอกจากช่วยให้ธุรกิจขยายกิจการเติบโต ยังช่วยให้นักลงทุน รวมทั้งประชาชนทั่วไปยังสามารถเข้ามาเกี่ยวข้องได้หลายรูปแบบทั้งผ่านการลงทุนและการออม

ในหลายประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือมีการยกระดับเศรษฐกิจไปสู่ระดับการเป็นประเทศพัฒนาแล้วตลาดทุนถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งน่าสนใจว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ตลาดทุนไทยจะสามารถพัฒนา และสร้างประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจได้อย่างไร

“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) เกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาตลาดทุนของไทยในอนาคต เพื่อเป้าหมายการเป็น “ตลาดทุนของทุกคน”

ดร.ณภัทรเล่าว่าช่วงที่ผ่านมา สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) ได้รับทุนวิจัยเพื่อการทำวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตลาดทุนไทยในหลายๆด้าน โดยแนวทางการศึกษาถือว่าแตกต่างจากการเก็บข้อมูลลักษณะนี้ที่ทำกันโดยปกติเนื่องจากสถาบันฯ ทำโดยการเก็บตัวอย่างกว่า 10,000 ตัวอย่างทั่วทั้งประเทศ ในหลายกลุ่มอายุ ถือว่ามากที่สุดเท่าที่มีการทำวิจัยในเรื่องนี้ วิธีที่ 2 คือสถาบันเปิด Policy Lab เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น โดยสะท้อนปัญหาทั้งเรื่องของปัญหา รวมทั้งความหวัง และสุดท้ายคือการทำการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำเสนอในรายงาน  

(สำหรับผู้ที่สนใจรายงานเรื่อง “ตลาดทุนแห่งอนาคต” ทั้ง 6 เล่ม ที่สถาบันอนาคตไทยศึกษาเผยแพร่สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ https://capitalmarket.thailandfuture.org/)

    คุยกับ ‘ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์’  ทำอย่างไรให้ ‘ศก.ไทย’ ได้ประโยชน์จาก ‘ตลาดทุน’                 

 ดร.ณภัทรกล่าวต่อว่าตลาดทุนของไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แม้ว่าจะมีความแข็งแกร่งในระดับหนึ่งแต่ก็มีความท้าทายว่าตลาดเงินทุนของไทยนั้นจะเติบโตไปได้หรือไม่ จะมีความยั่งยืนหรือไม่ และจำทำให้คนเข้าถึงตลาดทุนในจำนวนที่เพิ่มขึ้นได้อีกหรือไม่

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบแล้วตลาดทุนในหลายประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ใช้ตลาดทุนอย่างเต็มประสิทธิภาพทั้งในเรื่องของการระดมทุนทั้งของผู้ประกอบการ การออมและการลงทุนของประชาชน และหลายๆบริษัทของประเทศไทยที่มีการประกาศวิสัยทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งตลาดทุนก็ควรมีบทบาทในส่วนนี้เช่นกัน  

ตลาดทุนไทยขาด Growth Company 

ดร.ณภัทรกล่าวต่อว่าตลาดทุนของไทยเรามีทั้งจุดเด่น และจุดด้อย โดยสิ่งที่เป็นจุดด้อย และทุกคนเห็นตรงกันคือนั้นมีเรื่องใหญ่ๆ อยู่คือเรื่องของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนนั้นไม่หลายกหลาย ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ลงทุน นอกจากนั้นก็มีปัญหาเรื่องของการกำกับดูแลที่เป็นปัญหาใหญ่เพราะกฎหมายยังช้า และการลงโทษผู้กระทำผิดยังน้อยเกินไป

ถ้าถามว่าในวันนี้ตลาดทุนของประเทศไทยกำลังแข่งกับใคร แล้วเราอยู่ตรงไหนจะพบว่าเราแข่งขันอยู่กับหลายประเทศ ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ในฐานะที่สามารถเป็นทางเลือกของการเป็น “Capital Market” ได้เช่นเดียวกับ ในสิงคโปร์ และฮ่องกง โดยหากดูในเรื่องของมูลค่าการซื้อขยายตลาดทุนไทยไม่ได้เสียเปรียบเรื่องต้นทุนทางการเงิน แต่เราเสียเปรียบในเรื่องผลิตภัณฑ์ในตลาด เนื่องจากเรามีข้อจำกัดเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่นำมาซื้อขายอยู่น้อยมาก และยังขาดผลิตภัณฑ์เที่เป็น Growth Company ที่มันเป็นปัญหาที่ใหญ่ ซึ่งธุรกิจใหม่ๆของไทยนั้นมีน้อยมาก และมีความไม่แน่ใจว่าในอนาคต 5 – 10 ปีข้างหน้าจะมีเพิ่มขึ้นอีกกี่บริษัท

“ถ้าไปดูตลาดหุ้นอเมริกาสัดส่วนของธุรกิจที่เป็นธุรกิจสมัยใหม่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญตลาดทุน แต่ตลาดหุ้นไทยยังเป็นธุรกิจเก่า ซึ่งสะท้อนว่าเราไม่ค่อยมีอะไรใหม่ๆ ทำให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากๆ  ดังนั้นปัญหาก็คือเราไม่สามารถที่จะปลูกรากธุรกิจใหม่ๆลงไปในตลาดทุนของเราได้”

80% คนไทยเข้าไม่ถึงตลาดทุน

สำหรับปัญหาเรื่องของการเข้าถึงตลาดทุนพบว่า คนกว่า 80% ในประเทศไทยไม่เคยเข้าถึงตลาดทุน หรือที่เคยเข้ามาแล้วผิดหวังมาก ซึ่งตรงนี้มองการเข้าถึงตลาดทุนมีอุปสรรคตเพราะคนของเรามีปัญหาหนี้สินมาก และคนที่เข้ามาในตลาดทุนต้องการที่ได้ผลตอบแทนที่เร็วมาก ขณะที่ตลาดทุนเราไม่ได้มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการได้มากขนาดนั้นจึงมีการลงทุนที่เป็นความเสี่ยงนอกตลาดทุนจำนวนมากและเกิดความเสียหาย

ต้องทำทั้งสองส่วนคือการเพิ่มรายได้ ลดหนี้สิน และหาแนวทางที่ให้สามารถใช้ช่องทางตลาดทุนในการออม เช่น การลงทุนทางอ้อมโดยให้อัตราต่อหน่วยในการลงทุนต่ำลงและมีช่องทางการออมที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย

 

แนะรัฐเจียดเงินสวัสดิการสร้างระบบออมประชาชน 

ทั้งนี้เรื่องของการแก้ปัญหาการออมของประชาชนอาจทำนโยบาย  “Universal Basic Capital Grant  ” โดยรัฐมอบทุนให้เปล่าโดยเจียดเงินจากสวัสดิการภาครัฐให้กับเด็กเกิดใหม่จนถึงอายุ 18 ปี ทยอยใส่เงินออมลงไปในกองทุนที่ที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นและเงินจำนวนนี้เป็นชื่อของเด็กคนนั้น ในแบบจำลองพบว่าสุดท้ายในช่วงวัย 18 เด็กจะมีเงินออมคนละประมาณ 1 – 2 แสนบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้เด็กสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเอาเงินจำนวนนี้ออกมาใช้หรือจะเอาเงินจำนวนนี้ออมหรือลงทุนต่อซึ่งถือว่าเป็นเงินตั้งต้นที่รัฐจะให้กับประชาชนได้

อีกปัญหาคือเรื่องของความยากของการเข้าถึงตลาดทุนของประชาชนก็คือ ความยากในการเข้าใจผลิตภัณฑ์การลงทุน ซึ่งถือเป็นอุปสรรคในการลงทุน เพราะคนจะซื้อมีเงินและต้องการลงทุนก็ยังยากที่จะเริ่มซึ่งตรงนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็รับไปดูว่าจะแก้ไขอย่างไร

เผยธุรกิจระดมทุนในตลาดใช้เงินกว่า 20 ล้าน 

ส่วนเรื่องการเข้าถึงของฝั่งผู้ระดมทุนที่จะนำธุรกิจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็ยังยาก ซึ่งต้นทุนต่อรายนั้นมีคำบอกเล่าว่าใช้ต้นทุนกว่า 20 ล้านบาท ยังไม่นับรวมกับต้นทุนทางด้านเวลา ซึ่งไม่ใช่ระดับที่ทุกบริษัทที่สามารถเข้าไประดมทุนได้ ส่วนธุรกิจที่เป็นสตาร์ทอัพที่จะเข้ามาจดทะเบียนในประเทศไทยก็ไม่เอื้อต่อการระดมทุนมากนักเพราะขาดความยืดหยุ่น

สำหรับในอีกส่วนที่สำคัญจากผลสำรวจพบว่าเป็นปัญมากของตลาดทุนไทยคือปัญหาในเชิงของการกำกับดูแลของหน่วยงานที่มีหน้าที่ทำให้เกิดปัญหา ทุกวันนี้ไม่มีแล้วว่าทุกอย่างจะถูกกำกับได้ทั้ง 100% โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพราะเมื่อมีสินทรัพย์ดิจิทัล เข้ามาเท่ากับว่าเราอาจเจอปัญหาที่ว่ามีผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้แบบไม่สิ้นสุด

“ประชาชนก็อาจจะไม่รู้ว่านี่คือผลิตภัณฑ์อะไร ความเสี่ยงแค่ไหน อย่างในกรณีฟอซ์เร็กซ์  เราต้องการให้ กลต.และธนาคารแห่งประเทศไทยทำงานให้เป็นปึกแผ่นและทำงานร่วมกันมากขึ้น เพราะบางผลิตภัณฑ์ก้ำกึ่งมากว่าเป็นสินทรัพย์อะไร ไม่ควรเกี่ยวกันว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานไหน ควรต้องมีการช่วยกันกำกับดูแล หรือว่าอาจต้องใช้หน่วยงานภายนอก out source ให้มาช่วยดูแล หรือให้อุตสาหกรรมนั้นทำหน้าที่ในการช่วยกันสร้าง code of conduct เพื่อมาดูแลในส่วนนี้ ซึ่งอาจจะได้ผลมากกว่าใช้เฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้ามาทำงานลำพัง”

 

สำหรับข้อเสนอแนะของสถาบันอนาคตไทยศึกษาในการแก้ไขปัญหาของตลาดทุนไทย มีหลายข้อด้วยกัน เช่น

แนะวางบทบาท 3 ทหารเสือช่วยกำกับตลาดทุน 

 1.หน่วยงานกำกับดูแลต้องมาทำงานร่วมกันทั้งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)  ธนาคารแห่งประเทศไทย  และกรมสรรพากร ที่ต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน เพราะมีทั้งเรื่องควบคุมและเรื่องของภาษี เป็นเรื่องที่ต้องไปด้วยกัน ทั้งในรื่องของความปลอดภัย ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุนและตลาดทุนด้วย จึงต้องมี 3 หทารเสือที่กำกับดูแลเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญทั้งเรื่องความปลอดภัยและลดต้นทุนในการเข้าถึงตลาดทุนด้วย เพราะมีภาระเรื่องของต้นทุนเรื่องเอกสารและการตรวจสอบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ต้องทำเป็นดิจิทัล ซึ่งต้นทุนไปอยู่ที่ผู้ประกอบการ ที่ส่งต่อไปที่ผู้ลงทุน

2.การสร้างความรับรู้ในเรื่องตลาดทุน ควรให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลที่ถูกต้องของตลาดทุน โดยเฉพาะช่องทางที่ไม่เป็นทางการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ก็ไม่ควรมีแต่เรื่องของช่องทางการสื่อสารที่เป็นทางการอย่างเดียว ควรจะร่วมมือกับทุกสื่อและสนับสนุนความโปร่งใสของข้อมูลเป็น single source ที่เป็นความจริง และเป็นฐานข้อมูลกลางที่ตลาดหลักทรัพย์ต้องมีเรื่องนี้เพื่อเป็นการทำให้เป็น Data Center เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง

3.ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ภาครัฐควรสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนผ่านตลาดทุน ใช้ตลาดทุนเป็นประโยชน์ในการผลักดันนโยบายการสร้างความยั่งยืน และต้องให้การสนับสนุนเรื่องนี้ให้มีความชัดเจน

คุยกับ ‘ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์’  ทำอย่างไรให้ ‘ศก.ไทย’ ได้ประโยชน์จาก ‘ตลาดทุน’