ปี 2022 จะเป็นปีที่อินเตอร์เน็ตเปลี่ยนไป | ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
ท่ามกลางกระแสคริปโตเคอร์เรนซี ได้เกิดการจุติของ Web3 โครงข่ายอินเตอร์เน็ตใหม่ภายใต้ระบบบล็อกเชนแบบกระจายศูนย์ที่มีศักยภาพในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมได้จาก 3 มิติด้วยกัน ได้แก่ 1) Ecosystem Consumption, 2) Power & Ideology, และ 3) Collective Decisioning
ในครั้งก่อน เราพูดถึงมิติ “Ecosystem Consumption” ว่ามันคือจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมการบริโภคภายใน “ระบบนิเวศเศรษฐกิจใหม่” ที่ซึ่งทุกกิจกรรมที่มีบนเศรษฐกิจจริงจะมีร่างใหม่ จะเกิดการระดมทุนและการประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
ส่วนในมิติ “Power and Ideology” นั้น เราพูดถึงโอกาสในการหลุดพ้นจากโครงสร้างอำนาจเก่า ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ทั้งจากโครงสร้างอำนาจตลาดและอำนาจทางการเมือง
บทความนี้จะพูดถึงมิติสุดท้าย คือ “Collective Decisioning” ซึ่งถือเป็นมิติที่สำคัญที่สุดในการเข้าใจถึงคุณค่าและโอกาสของ Web3 ในระยะยาว
“การตัดสินใจร่วมกัน” เป็นโจทย์ที่มนุษย์ต้องทำอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่สมัยยังไม่เป็นโฮโมเซเปียนส์มาจนถึงทุกวันนี้ เพื่อที่จะกำหนดทิศทางสังคม ตั้งแต่ระดับครอบครัว องค์กร ไปจนถึงระดับประเทศ
แต่คำถามสำคัญก็คือ ด้วยระบบในการตัดสินใจร่วมกันที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ระบบเลือกตั้ง คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ การประชุมบอร์ดและผู้ถือหุ้น หรือแพลตฟอร์มระดมความเห็น ทั้งหมดนี้เอื้อให้เกิดการตัดสินใจร่วมกันอย่างมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และมีความเป็นส่วนร่วมมากเพียงใด? และทั้ง 3 ตัวชี้วัดนี้จะดีได้กว่านี้อีกหรือไม่?
Web3 เสนอทางเลือกใหม่ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “DAOs” (Decentralized Autonomous Organizations) ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าต่างสู่การบริหารจัดการองค์กรที่ทำงานผ่านการเช็คสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ “โทเคน” ของแต่ละ DAO ที่ขึ้นทะเบียนไว้บนระบบบล็อกเชน ไม่ต่างกับการถือบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรพนักงานบริษัท หากคุณถือโทเคนของ DAO ดังกล่าวอยู่ คุณจะมีสิทธ์ในการเข้าสังคมเพื่อร่วมออกเสียงและกำหนดทิศทางองค์กรในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนหนึ่ง
DAOs มีตั้งแต่ระดับชมรมไปจนถึงระดับธุรกิจขนาด market cap เกินหมื่นล้านบาทที่บริหารกันโดยคนแปลกหน้าผู้ไม่รู้จักกันแต่กลับทำงานร่วมกันได้อย่างมีระบบกว่าในหลายองค์กรบนโลกจริง
ภายในแต่ละ DAO สมาชิกทุกคนมีตำแหน่งหน้าที่ มีแรงจูงใจให้เกิดการไต่เต้า ใครที่โลกจริงเป็นผู้บริหาร เป็นนักกฎหมาย เป็นนักเศรษฐศาสตร์ เป็นศิลปิน ก็ต้องแสดงว่าตน “มีของ” จึงจะถูกบรรจุไปสู่ตำแหน่งที่เหมาะสม มิใช่ดูเพียงคำนำหน้าหรือเรซูเม่ว่าเคยทำอะไรมา จนกระทั่งวันหนึ่ง DAOs ที่แข็งแกร่งจะมีโครงร่างและแขนขาที่แข็งแรง มีคณะกรรมการบริหาร และมีผู้รับผิดชอบทุก BU ที่จำเป็นในการบรรลุเป้าหมาย รวมถึงมีกระบวนการในการเสนอร่างนโยบายและกลยุทธ์ขององค์กร และหุ่นยนต์คอยคุมการลงประชามติอย่างเป็นระบบระเบียบที่รวดเร็วและโปร่งใสอย่างสุดขั้ว
ข้อได้เปรียบสำคัญของรูปแบบการตัดสินใจร่วมกันแบบนี้ คือความเร็วและความมีส่วนร่วม
การที่ระบบนี้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ และไม่ได้ใส่ใจถึงตัวตน คำนำหน้า เส้นสาย และประวัติ แต่ให้ความสำคัญกับคุณค่าจริงที่สมาชิกมอบให้กับส่วนรวม จึงทำให้บาง DAOs สามารถร่างและผ่านกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ได้ด้วยความเร็วในระดับวัน การออกเสียงก็ทำได้ง่ายเพียงอ่านบทสรุปมติที่ทีมงาน “หน้าห้อง” ทำไว้อย่างดี แล้วกดโหวตด้วย emoji ยังไม่รวมว่า DAOs นั้นทำงานได้ 24 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่มีวันหยุดทั้งปีเนื่องจากมีสมาชิกและทีมอยู่ในทุกไทม์โซนของโลกและพวกเขาไม่ได้รับเงินเดือนในอัตราคงที่
จุดพิสูจน์สำคัญของการตัดสินใจร่วมกันบน Web3 จึงไม่ใช่เรื่องประสิทธิภาพหรือความมีส่วนร่วม แต่เป็นเรื่องของประสิทธิผล ว่าสุดท้ายแล้วการตัดสินใจด้วยเมธาของฝูงชนจะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าหรือเทียบเท่าการตัดสินใจโดยผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ เนื่องจากการตัดสินใจแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น การกำหนดนโยบายการคลังและการเงิน ว่าจะบริหารเงินคงคลังและโทเคนอมิกส์อย่างไรท่ามกลางความผันผวนของนวัตกรรม ค่าเงิน และกลยุทธ์ของคู่แข่งที่ผุดเกิดขึ้นทุก ๆ นาที
เมื่อเงินในระดับพันหมื่นแสนล้านเป็นที่เดิมพัน นี่คือสาเหตุที่ทำไม DAOs ส่วนใหญ่ยังไม่ “autonomous” หรือ “decentralized” อย่างสมบูรณ์สมชื่อ และแก้ปัญหาด้วยการเปิดให้เกิดการเลือกตั้งตำแหน่งสำคัญแทน และคานอำนาจด้วยการบังคับให้ออกเสียงกันทั้ง DAO เสมอทุกการตัดสินใจครั้งใหญ่
การตัดสินใจร่วมกันแบบ DAOs ไม่ได้เหมาะสมกับทุกองค์กร แต่ชวนคิดว่ากระบวนการตัดสินใจร่วมกันในโลกปัจจุบันมีปัญหาอย่างไรและน่าจะต้องถูกรื้อถอนหรือพัฒนาอีกมากเพียงใด จึงจะทัดเทียมสมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ใช้กันได้แล้วถ้วนหน้าและมีต้นทุนที่ต่ำกว่าจนไม่ลองไม่ได้.