เปิดเหตุผลทำไม? ดีเซลไทยยังขายลิตรละ 35 บาท แม้ราคาตลาดโลกปรับลด
“กองทุนน้ำมัน” ชี้แจง แม้ราคาน้ำมันโลกจะปรับลดลง แต่ราคาน้ำมันดีเซลจะไม่ลดลงตามอย่างฮวบฮาบ เพราะปัจจัยหลักมาจาก “เงินบาทอ่อนค่า-กองทุนติดลบ” กว่า 1.2 แสนล้าน
จากวิกฤติซ้อนวิกฤติ “โควิด-สงครามรัสเซีย ยูเครน” ส่งผลให้ราคาพลังงานมีความผันผวนอย่างหนักส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานโลกอย่างดีเซลพุ่งสูงขึ้นในระดับ 2 เท่าตัว และราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG) ปรับสูงขึ้นในระดับ 5 เท่าตัว
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาดังกล่าว ส่งผลกระทบไปทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งประเทศไทยต้องเจอกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามากตั้งแต่กลางปี 2565 จนปัจจุบันทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์ ถึงแม้ว่าราคาพลังงานโลกเริ่มลดลง แต่เมื่อเงินบาทอ่อนค่าส่งผลทำให้ราคานำเข้าพลังงานกลับไม่สามารถลดลงมาตามที่ควรจะเป็น
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง 8 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่ารวม 43,960.4 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 87.7% แบ่งเป็นน้ำมันดิบ 27,996.3 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวในอัตรา 94.6% น้ำมันสำเร็จรูป 4,005.5 ขยายตัว 17.4% และ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม 8,665 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 199%
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ราคาน้ำมันตลาดโลกเมื่อปรับลดลง แต่ราคาน้ำมันในประเทศไทยไม่ได้ปรับลดลงมากตามไปด้วย มีสาเหตุหลัก ๆ มาจาก 2 ปัจจัย คือ
1. ค่าเงินอ่อนค่า ถือว่ามีผลกระทบและเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะเมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่ามากส่งผลถึงต้นทุนราคาน้ำมันสูงขึ้นโดยประเทศไทยมีปริมาณนำเข้าที่สูงด้วย และหากเทียบกับช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยน 30 บาท ราคาน้ำมันขึ้น 1 ดอลลาร์ จะเท่ากับ 20 สตางค์ และปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนพุ่งสูงขึ้นไปแตะ 38 บาท จึงมีผลกระทบทันที
2. เก็บเข้ากองทุนน้ำมัน เนื่องจากกองทุนน้ำมันยังติดลบกว่า 1.2 แสนล้านบาท อีกทั้ง วันที่ 20 พ.ย. 2565 จะจะครบกำหนดที่กรมสรรพสามิตน้ำมันจะครบมาตรการยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท โดยหากกระทรวงการคลังไม่ต่ออายุมาตรการนี้แล้วกลับมาเก็บภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท กองทุนน้ำมันอาจเสนอเข้าไปชดเชยราคา ตามจำนวนเงินที่กองทุนเก็บจากดีเซลในขณะนี้
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายแลยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) ในฐานะผู้ช่วยเลขาคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเก็บเงินจากดีเซลลิตรละ 1.15 บาท อาจนำอุดหนุนราคาดีเซลลิตรละ 1 บาท และอีก 15 สตางค์ จะเก็บเข้ากองทุน ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซลขยับขึ้นแค่ลิตรละ 4 บาท ไม่ให้ปรับขึ้นถึงลิตรละ 5 บาท แต่หากกองทุนเก็บเงินได้มากกว่าลิตรละ 1.15 บาท ก็จะช่วยพยุงราคาดีเซลได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ในการประชุม กบน. สัปดาห์หน้าจะพิจารณาทบทวนราคาขายปลีกดีเซลในประเทศตามความเหมาะสมด้วยดุลยพินิจของ กบน. เอง หลังมาตรการอุดหนุนราคาดีเซล 50% ในส่วนที่สูงกว่า 35 บาท/ลิตร สิ้นสุดลงวันที่ 30 ก.ย.นี้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
“ขณะนี้กองทุนเก็บเงินจากน้ำมันเข้ากองทุนลิตรละ 1.15 บาท ซึ่งหากราคาน้ำมันสำเร็จรูปดีเซลตลาดโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญต่อเนื่อง จนสามารถเก็บเงินเข้ากองทุนได้ลิตรละ 3-4 บาท กองทุนน้ำมันอาจแบ่งเงินส่วนหนึ่งที่เก็บเข้ากองทุนคืนกลับไปเป็นส่วนลดราคาขายปลีกดีเซลให้ประชาชนลงแบบขั้นบันได เช่น จากลิตรละ 34.94 บาท ลดลง 50 สตางค์หรือ 1 บาท เป็นต้น แต่เบื้องต้นจะขอพิจารณาจากอัตราเงินที่เก็บเข้ากองทุนเป็นหลักก่อน”
สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันวันที่ 25 ก.ย. 2565 ติดลบ 125,216 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 82,674 ล้านบาท บัญชีแอลพีจีติดลบ 42,542 ล้านบาท แต่มีเงินเรี่ยไรจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เข้ามาเสริมสภาพคล่องกองทุน 1,000 ล้านบาท ทำให้กองทุนติดลบ 124,216 ล้านบาท
นอกจากนี้ กองทุนน้ำมัน ยังอยู่ระหว่างใช้กลไกการกู้เงินเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องและพยุงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม LPG เพื่อให้มีคาราที่ไม่กระทบกับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยคาดว่าเงินกู้ก้อนแรก 20,000 ล้านบาท จะสามารถเข้ามาเติมบัญชีได้ในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2565 นี้