‘กอบศักดิ์’ ชี้โอกาสประเทศไทย ในภาวะโลกเผชิญ ‘เศรษฐกิจถดถอย’
‘กอบศักดิ์’ฉายภาพโอกาสเศรษฐกิจไทยท่ามกลาง Global Recession ชี้ไทยยังพื้นฐานเศรษฐกิจดีการเติบโตยังได้ในระดับ 3% ไปอีก 2 ปี จากท่องเที่ยวฟื้น FDI หนุน รับห่วงปัจจัยการเมืองช่วงโค้งสุดท้ายส่งผลต่อเศรษฐกิจ แนะรัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่น-เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่าผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากในปี 2565 โดยเฉพาะการเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องทำให้ภาวะเศรษฐกิจของโลกจะเริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Global Recession) ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจจะมีความรุนแรงและชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า โดยภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระดับโลกนี้ถือว่ามีความรุนแรงและจะเป็นการเกิดขึ้นครั้งที่ 5 ในรอบ 50 ปี โดยสัญญาณของปัญหาเศรษฐกิจที่จะได้เห็นคือการเริ่มปลดพนักงานของบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯและยุโรป ขณะที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging market) หลายประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินและต้องเข้าขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
ทั้งนี้การถดถอยของภาวะเศรษฐกิจโลกจะกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศไทยเช่นกันประกอบกับประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าซึ่งเรื่องนี้อาจส่งผลกระทบเรื่องของความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งน่ากังวลใจแต่ต้องก็ต้องคาดหวังหลายๆหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจว่าจะกำกับดูแลเศรษฐกิจไปได้ในทิศทางที่ควรจะเป็น เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการช่วยขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจในทิศทางที่ถูกต้องในช่วงเวลานี้
โดยในปี 2566 จะเป็นปีที่การส่งออกจะไม่ได้ขยายตัวเหมือกับ 1 – 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีนต่างมีปัญหาเศรษฐกิจดังนั้นเครื่องยนต์การส่งออกจะไม่ได้ดีเหมือนกับในปี 2564 และ 2565 อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และปี 2566 จะยังสามารถขยายตัวได้ในระดับไม่น้อยกว่า 3% โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องได้ในช่วงที่หลายประเทศจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ในส่วนของภาคส่วนที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลกก็คือภาคการท่องเที่ยว และภาคการลงทุน ซึ่งมีทิศทางที่ดีอย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเดือนละ 1.5 ล้านคน ทำให้ในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยกว่า 10 ล้านคน และในปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามากว่า 20 - 25 ล้านคน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น
อีกส่วนที่เศรษฐกิจไทยจะได้อานิสงค์ก็คือการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนโดยตัวเลือกในการย้ายฐานการลงทุนของอุตสาหกรรมต่างๆในอาเซียนที่เป็น Gate Way ในการลงทุนยังคงเป็นไทยและเวียดนาม เห็นได้จากการตัดสินใจเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยของบริษัท BYD รถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากประเทศจากประเทศจีนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของบริษัท WHA จ.ระยองในพื้นที่กว่า 700 ไร่ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีโอกาสที่มีเงินลงทุนทางตรง (FDI) จากต่างประเทศเข้ามาอีกมาก
ซึ่งเมื่อรวมกับนโยบายเรื่องการให้วีซ่า LTR ให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาพำนักระยะยาวในประเทศไทยในระยะเวลา 10 ปีและแก้ปัญหา อุปสรรคในเรื่องการอยู่ในประเทศไทยของกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง รวมถึงกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Global talent) เข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็จะช่วยดึงการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันเพราะช่วยให้ประเทศไทยมีโอกาสเศรษฐกิจมากขึ้น
ทั้งนี้สิ่งที่รัฐบาลควรจะมีการเตรียมการในช่วงที่ประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนโดยจำเป็นที่จะต้องให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการที่ถูกต้องเกี่ยวกับความแข็งแรงและโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีอยู่ ควบคู่กับการโรดโชว์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กับนักลงทุนต่างประเทศเพื่อดึงดูดเข้ามาลงทุนและอยู่อาศัยระยะยาวในไทยตามเงื่อนไขของวีซ่า LTR ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งลงทุนโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆที่รัฐบาลมีแผนอยู่ให้เร็วขึ้นทั้งทางด่วน มอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง โครงการอีอีซี และโครงการระเบียงพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะช่วยหนุนเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในระยะต่อไปได้อย่างดี
“โครงการอีอีซีที่ได้อนุมัติไปแล้วทั้งอีอีซี SEC ต้องมีการเร่งรัดเพราะทำให้ประเทศไทยจะมีแรงส่ง ในช่วงที่ต้องขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ซึ่งดีกว่าการที่เอาเงินไปช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งในช่วง 2 ปีข้างหน้าเมื่อประเทศไทยมีแรงส่งจากเรื่องของการท่องเที่ยว FDI การลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทำให้เศรษฐกิจไทยมีแรงส่งทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นกว่าหลายๆประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย”นายกอบศักดิ์กล่าว