'ค่าธรรมเนียมใช้ถนน' ทางออกลดคาร์บอนภาคขนส่ง

'ค่าธรรมเนียมใช้ถนน' ทางออกลดคาร์บอนภาคขนส่ง

ก๊าซเรือนกระจกกำลังเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยไทยได้แสดงเจตจำนงจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% ภายในปี 2573

โดยหนึ่งในสามของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยในช่วงที่ผ่านมา คือ ภาคขนส่ง และมีแนวโน้มการปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้นจากปริมาณการเพิ่มตัวของรถยนต์และการคมนาคมขนส่งในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ยังเกิดมลพิษทางอากาศจากปัญหาการจราจรติดขัดบนท้องถนนด้วย

ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบันพัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การขยายเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และการปรับปรุงการใช้รถโดยสารประจำทาง โดยการเปลี่ยนเป็นรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า ซึ่งประเมินว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงรถโดยสารประจำทางใช้ก๊าซธรรมชาติมาเป็นระบบไฟฟ้าครบ 3,200 คัน จะทำให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 184,000 ตันคาร์บอนได้ออกไซด์ต่อปี

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 31 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contributions: NDC) ภายในปี 2573 และหากประเทศไทยได้รับการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยจะมาสามารถยกระดับเป้าหมาย NDC ขึ้นเป็น 40% และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในหรือก่อนหน้าปี 2608

ปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งของไทย นอกจากเร่งปรับปรุงระบบขนส่งมวลขนสู่พลังงานทางเลือกแล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลเยอรมันในการริเริ่มโครงการสนับสนุนการพัฒนามาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีความท้าทายของภาคการขนส่ง (TRANSfer III)

โดยศึกษา 3 โครงการที่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนากับภาคขนส่งของไทย ประกอบด้วย

1.ศึกษาจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้พื้นที่การจราจรหนาแน่นในกรุงเทพฯ

2.ศึกษาแผนสนับสนุนการปรับปรุงคุณภาพรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

3.ศึกษาพัฒนากองทุนการขนส่งสะอาด ซึ่งจะบริหารจัดเก็บรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมใช้ถนนนำมาพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ

สำหรับหนึ่งในโครงการที่มีการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม และพบว่าเกิดประโยชน์ในเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปริมาณการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนน คือ มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนที่ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า หากใช้มาตรการนี้จะ

  • ลดปริมาณจราจรไปได้ 20%
  • ลดค่าฝุ่น PM2.5 ในอัตรา 3 - 3.6%
  • ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อีก 1 - 6.5 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
  • จัดเก็บรายได้อีกราว 5,000 – 40,000 ล้านบาท เพื่อนำเข้ากองทุนการขนส่งสะอาด

\'ค่าธรรมเนียมใช้ถนน\' ทางออกลดคาร์บอนภาคขนส่ง

“ที่ผ่านมาเราได้ร่วมกันศึกษาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมาจากปัญหาการจราจรติดขัด จึงได้ทดลองนำโมเดลในต่างประเทศที่ใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่การจราจรหนาแน่น และพบว่าเป็นผลสำเร็จ สามารถลดปริมาณจราจรติดขัด ลดมลพิษทางอากาศได้อย่างมาก จึงนำร่องมาวิเคราะห์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่จราจรติดขัดอย่างมาก ซึ่งก็พบว่าได้ผลลัพธ์ที่ดี”

อย่างไรก็ดี การศึกษาใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่การจราจรหนาแน่น ขณะนี้ยังเป็นโมเดลที่ต่างประเทศใช้กันเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด โดยยังไม่มีข้อสรุปสำหรับการนำมาประกาศใช้กับไทย เนื่องจากเป็นเรื่องที่จะส่งผลต่อประชาชน ดังนั้น สนข.จะต้องเสนอผลการศึกษาดังกล่าวไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อน คาดว่าจะเสนอได้ภายในปีนี้ หลังจากนั้นอยู่ที่นโยบายของรัฐบาลในการผลักดันสู่การนำมาปฏิบัติจริง

ทั้งนี้ มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ สนข.ศึกษาจะจัดเก็บในราคาเริ่มต้น 60 บาทต่อคัน ซึ่งอ้างอิงมาจากราคาค่าผ่านทางพิเศษที่ประชาชนยอมรับในการจ่ายได้ แต่อย่างไรก็ดี การจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ นี้ จะต้องศึกษาความเหมาะสมอย่างรอบคอบ สนข.เตรียมลงพื้นที่เปิดรับฟังความเห็นภาคประชาชน อีกทั้งมาตรการจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีระบบขนส่งสาธารณะที่สมบูรณ์พอ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคล